ความคืบหน้าของการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ในการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 2022 ที่ประเทศกาตาร์ เป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 20 พ.ย.-18 ธ.ค. 65 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำงบประมาณของ กสทช. ไปใช้ในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพียงหน่วยงานเดียว โดยระบุว่า เป็นงบที่ทำเพื่อประชาชนและเป็นของขวัญให้คนไทยนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ย. รายงานข่าวจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) แจ้งว่า ได้ส่งเอกสารขอรับการสนับสนุนและชี้แจงงบประมาณกรอบวงเงิน 1,600 ล้านบาท ไปยัง กสทช. เรียบร้อยแล้ว โดย กสทช. จะเรียกประชุมคณะกรรมการบอร์ด กกท. ในวันพุธที่ 9 พ.ย. นี้ เพื่ออนุมัติงบประมาณส่วนดังกล่าวไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้คนไทยได้รับชมกันผ่านช่องสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี 64 แมตช์

สำหรับตัวเลขค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 นั้น เอเย่นต์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ประจำภูมิภาคอาเซียน ได้เรียกค่าลิขสิทธิ์เข้ามาทั้งหมดเต็มแพ็คเกจเป็นเงิน 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,440,200,000 บาท (ตัวเลขอัตราค่าเงิน ณ วันที่ 7 พ.ย. 65) ย้ำว่า ตัวเลข 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นตัวเลขเฉพาะค่าลิขสิทธิ์อย่างเดียว ไม่มีค่าบริหารจัดการอื่นๆ แต่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประชุมซูมร่วมกับเอเย่นต์ของฟีฟ่า เพื่อเจรจาต่อรองค่าลิขสิทธิ์ลง ปรากฏว่า ฟีฟ่า ยอมลดค่าลิขสิทธิ์ให้ประเทศไทย เป็นเงิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สรุปว่า ประเทศไทยจะซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 64 แมตช์ เป็นเงิน 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,364,4000 บาท (ตัวเลขอัตราค่าเงิน ณ วันที่ 7 พ.ย. 65) ยังไม่รวมค่าภาษี และค่าโอนเงินระหว่างประเทศอีกส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กกท. ยังคงต้องหารือกับ กสทช. ในขั้นตอนต่อไปว่า หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในการประสานงานช่องสถานีฟรีทีวีช่องต่างๆ เพื่อเข้ามารับดำเนินการออกอากาศถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 แมตช์ แต่ยันยันว่า คนไทย จะได้ดูการถ่ายทอดสดฟรี เป็นไปตามกฏ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) ที่ กสทช. เป็นหน่วยงานที่ออกกฎดังกล่าว

โดยกฎ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) ระบุว่า 7 มหกรรมกีฬาที่คนไทยต้องดูฟรี ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก

ทางด้าน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ทาง กสทช. ได้รับเอกสารจากทาง กกท. แล้ว แต่หนังสือดังกล่าว ไม่ได้มีการชี้แจงอะไรเพิ่มเติมจากครั้งก่อน โดย กกท. ให้เหตุผลว่า เพราะทางฟีฟ่า ไม่ได้ให้เอกสารรายละเอียดมาเปิดเผย เท่ากับว่าวงเงิน 1,600 ล้านบาทนั้น เป็นค่าลิขสิทธิ์ล้วนๆ ทำให้ทาง กสทช. ทำงานค่อนข้างลำบากพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ในวันพุธที่ 9 พ.ย. นี้ จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมแน่นอน เพื่อนำมาคุยกันว่าจะทำอย่างไร เนื่องจากต้องมีคำตอบให้กับประชาชน รวมถึงทาง กกท. เพราะเราเอง ก็ไม่อยากเตะถ่วง ถ้าหากคณะกรรมการ กสทช. จะไม่อนุมัติเงินให้ ก็จะได้แจ้งให้ไปหางบประมาณจากแหล่งอื่นแทน หรือว่าจะให้เท่าไหร่ ก็ต้องมาคุยกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าหนักใจกับตัวเลขดังกล่าวหรือไม่ นายไตรรัตน์ ตอบว่า “หนักใจสิ เหมือนเรามีลูก มาขอเงิน 10,000 บาท แต่พอถามกลับว่าเอาไปทำอะไรบ้าง กลับตอบไม่ได้ ก็ต้องเห็นใจกรรมการบอร์ด กสทช. ทั้ง 6 ท่านด้วย ท่านอยากให้คนไทยมีความสุข แต่มาเจอแบบนี้มันก็เหนื่อย และหนักใจเป็นธรรมดา เนื่องจากมันหาข้อมูลอะไรไม่ได้เลย แล้วต้องมาคอยตอบคำถามคนอื่นๆ แต่ในวันที่ประชุมได้เชิญ ผู้ว่าการ กกท. ให้เข้ามาชี้แจงด้วยตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นในวันที่ 9 พ.ย. นี้ บอร์ด กสทช. จะอนุมัติหรือไม่ อย่างไรนั้น อยู่ที่ ผู้ว่าการ กกท. จะชี้แจงในที่ประชุมได้ขนาดไหน อาจจะให้ทั้งหมด, ให้บางส่วน หรือไม่ให้เลย ก็เป็นไปได้เช่นกัน”

นายไตรรัตน์ ยังกล่าวอีกว่า เรื่องของตัวเลขที่เห็นคือ 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จะมีค่าภาษี, ค่าแปลงเงินต่างประเทศ รวมแล้วก็ตกประมาณ 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,591,800,000 บาท (ตัวเลขอัตราค่าเงิน ณ วันที่ 7 พ.ย. 65) ด้วยกัน เพียงแต่ตรงนี้ทาง กกท. ไม่ยอมชี้แจงมาว่ามันมีอะไรบ้าง เงินที่จ่ายไปถ่ายทอดสดได้ทางช่องทางไหนบ้าง เป็นค่าลิขสิทธิ์เท่าไหร่ ค่าดำเนินการอีกเท่าไหร่ เป็นต้น ถ้าหากบอร์ด กสทช. ให้การอนุมัติเงิน เงินที่นำมาใช้จะเป็นเงินที่ผู้ประกอบการ ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งจะต้องแบ่งรายได้จากการประกอบการ เข้ากองทุนทุกปีอยู่แล้ว เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้ใช้เงินภาษีจากประชาชนแต่อย่างใด

ต่อข้อถามที่ว่า ตัวเลขที่เห็นมองว่าแพงเกินไปหรือไม่? นั้น นายไตรรัตน์ กล่าวว่า ตนก็ไม่รู้ว่าต่างชาติที่ซื้อ เขาซื้อในแพ็กเกจแบบไหน ซื้อครบทุกนัด ถ่ายทอดสดทุกช่องทางแบบประเทศไทยหรือไม่ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าของไทยแพงไปหรือไม่ รวมถึงประเทศไทย อาจจะเข้าไปติดต่อขอซื้อช้า ฟุตบอลจะเริ่มอีกไม่กี่วันแล้ว ผู้ขายอาจจะบังคับเราให้ซื้อครบทุกนัดก็ได้ หรืออาจจะเพราะเราซื้อช้า และจำเป็นต้องซื้อ เลยทำให้ต่อรองราคาไม่ได้ด้วยหรือไม่ ก็เป็นปัญหาที่จะต้องนำมาพูดคุยแก้ไขกันในครั้งต่อไป

“หลังจบฟุตบอลโลก 2022 ก็คงจะต้องมีการพูดคุยกัน อาจจะต้องปรับกฎ Must Have และ Must Carry ให้มันเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะตอนที่กฎออกมาช่องทางมันยังไม่เยอะขนาดนี้ ตอนนั้นมีเพียงความหวังดีที่อยากให้คนไทยได้ดูครบทุกช่องทางเท่านั้น แต่ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไป กฎมันทำให้การทำงานของเอกชนทำได้ยาก ดังนั้นคงจะเข้าไปขอเสนอแก้ไขปรับให้เข้ากับสถานการณ์ แต่คงต้องรอจบฟุตบอลโลกก่อน ค่อยมาคุย เพราะยังมีเวลาอีก 4 ปี แต่ที่แน่ๆ คือ กสทช. คงจะออกเงินให้ทุกๆ 4 ปี ไม่ได้” นายไตรรัตน์ กล่าว

พร้อมระบุอีกว่า เรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ยังไม่ได้คุยกัน ตอนนี้เอาให้ได้เงินไปซื้อลิขสิทธิ์ก่อนค่อยคุย เช่นถ้า กสทช. จ่ายทั้งหมดควรจะได้ประชาสัมพันธ์อะไรบ้าง หรือถ้ามีเอกชนมาช่วย ก็ต้องพูดคุยกัน เช่นเดียวกับการประสานช่องถ่ายทอดสดก็รอวันที่ 9 พ.ย. นี้ ค่อยคุย ยังไม่ได้มีการวางหลักการอะไรเอาไว้ เพราะถ้าสุดท้าย กสทช. ไม่อนุมัติเงิน เรื่องพวกนี้อาจไม่ต้องคุยก็ได้

“วันที่ 9 พ.ย. นี้ จะมีประชุมราว 30 เรื่อง หลังจากนั้นก็จะมาคุยเรื่องฟุตบอลโลกกัน ถ้าหาก ผู้ว่าการ กกท. ชี้แจงได้ครบตามที่คณะกรรมการสงสัย และให้ความเห็นชอบอนุมัติเงิน เรื่องก็จบ หรือถ้าให้ไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติม ก็คงต้องว่ากันไป”

อนึ่ง ศึกฟุตบอลโลก 2022 จะดวลแข้งนัดแรก ในคืนวันที่ 20 พ.ย. คู่เปิดสนามเป็นการพบกันระหว่างเจ้าภาพ กาตาร์ กับ เอกวาดอร์ ที่ อัล บายต์ สเตเดี้ยม เวลา 23.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เท่ากับว่า เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์เท่านั้น ในการซื้อลิขสิทธิ์ของประเทศไทย ก่อนที่ฟุตบอลโลก จะเปิดฉากขึ้น.