เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่รัฐสภา น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวเตรียมย้ายพรรคว่า ยอมรับว่า มีมาชวนทุกพรรค แต่ตนไม่ได้เล่นตัว ต้องถามประชาชน เพราะการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว ไม่เหมือนเดิม เหมือนที่เราเป็นพยาบาลมา 20 กว่าปี มีคนไข้ทุกวัน แต่คนไข้ก็ทยอยเสียชีวิตกันไปทุกวัน
 
“ตายไปทุกวัน ตีสักวันนึง 10 คนๆ หายไปเยอะนะคะ แล้วคนรุ่นใหม่มา ก็มีสิทธิเลือกตั้งได้ เขาดูแต่โซเชียล เขาไม่ได้ดูความเป็นจริงว่าเราทำงานเป็นอย่างไร ผลงานเรามีอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราก็หวั่นไหว” 
 
น.ส.รังสิมา กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี เชื่อว่าการซื้อเสียงคราวหน้าจะรุนแรงมาก พอเราไปถามประชาชนว่าคราวหน้าจะเลือกรังสิมาหรือไม่ ทุกคนก็บอกว่าจะเลือก เพราะเขากลัวโดนยิงตาย เราไม่ได้ไปยิงเขาหรอก แต่เขากลัว ถ้าเราไปถามเองเราก็ได้คำตอบที่ไม่ตรง เราเลยต้องไปจ้างทำโพล ลงสมัครมา 6 ครั้ง เป็นครั้งแรกที่หวั่นไหวที่สุดเลย กลัวสอบตก แต่ตกก็ไม่เป็นไรก็ยอมรับสภาพนะ ถ้าประชาชนไม่เลือกก็เลิก
 
“มีคนถามเล่นๆนะ นี่พูดเล่นนะ ประชาชนถามว่า รังสิมา ถ้าคุณสอบตกจะไปทำอะไร ฉันก็ขายหอยฉันสิคะขายได้นี่ ก็มีอาชีพเตรียมไว้แล้ว” 
 
น.ส.รังสิมา กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดของโพลคือถามว่า ถ้ายังอยู่พรรคประชาธิปัตย์ประชาชนจะยังเลือกหรือไม่ ถ้าไม่เลือกจะให้ไปอยู่พรรคไหน ไม่เลือกเพราอะไร แล้วถ้าไปอยู่พรรคใหม่จะเลือกเพราอะไร ต้องทำโพลอย่างละเอียดทุกพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาให้ได้ตรงจุด เมื่อก่อนเราใช้ไสยศาสตร์ ปัจจุบันเราต้องใช้วิทยาศาสตร์
 
เมื่อถามว่า มีพรรคอื่นในใจหรือไม่ น.ส.รังสิมา กล่าวว่าก็ดีทุกพรรค ยกเว้นเงื่อนไขคือพรรคที่ไม่เอาสถาบัน เราไม่เอา โดยถ้าผลโพลบอกให้อยู่พรรคประชาธิปัตย์ออกไปก็จะอยู่ หรือถ้าไปพรรคอื่นแล้วดูจะชนะ เราก็จะไป จึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะไปพรรคใด เว้นแต่ว่าถ้าโพลบอกให้เราไปพรรคที่ไม่เอาสถาบัน แล้วจะชนะ เราก็เลิก ยอม ส่วนผลโพลจะออกมาเมื่อใดนั้น ตนคาดว่าน่าจะภายในปีนี้ แต่ไม่อยากจะเร่งรัดเพราะกลัวข้อมูลจะคลาดเคลื่อน
 
ยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหากับพรรคประชาธิปัตย์ ดิฉันได้ทำความเข้าใจกับหัวหน้าพรรคไว้แล้วว่าหากคราวนี้ผลโพลออกมาว่าถ้าอยู่พรรคเดิมแล้วเสี่ยงจะแพ้ ก็ต้องขออนุญาตย้ายก่อน แล้วคราวหน้าก็ค่อยไปๆมาๆได้ เพราะถ้าประชาชนไม่เลือกเรา เราก็ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งหัวหน้าพรรคเข้าใจ และบอกให้ทนๆไปก่อน ดิฉันก็เสียดายเหมือนกันถ้าต้องจากพรรคประชาธิปัตย์ไป แต่การเมืองเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ต้องเอาตัวรอด คราวที่แล้วเกือบไม่รอด” 
 
“เงินไม่ใช่ปัจจัยหลักสำหรับเรา เพราะลงมาสมัครมา 6 ครั้ง ไม่เคยซื้อเสียงเลย ซองก็ไม่เคยใส่ หรีดก็ไม่วาง แต่เราอยากให้ประชาชนรู้ว่าเลือก ส.ส.มาทำอะไร ถ้าเลือกคนซื้อเสียงจะเข้ามาโกง ให้เลือกคนมาทำงาน แต่ถ้าเขาให้เงินให้รับไว้ เพราะเงินไม่ใช่งู ไม่กัด แต่เวลาเลือกอย่าไปเลือก ให้คนซื้อเสียงมันหมดตูดล้มละลาย จะได้เลิกไปสักที”
 
น.ส.รังสิมา ยังกล่าวถึงกรณีที่ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมจะย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติว่า ตนยังไม่ได้พบน.ส.พิมพ์ภัทรา แต่ตั้งใจจะนัดพบกันวันนี้ (10 พ.ย.) เพื่อพูดคุยถามเหตุผล เพราะตนเชื่อว่าคนที่ย้ายไปมีเหตุผลทุกคน เราไม่ว่ากัน ใครย้ายไปแล้วรอดเราก็ขอให้กลับมาเจอกันทุกคน

เมื่อถามว่า พรรคที่มาทาบทามนั้นมีพรรครวมไทยสร้างชาติด้วยหรือไม่ น.ส.รังสิมา ยอมรับว่ามี เพราะนายเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เป็นแนวร่วม กปปส. มาด้วยกัน โดนคดีมาด้วยกัน นอกจากนี้ที่ทาบทามยังมีพรรคอื่นๆ เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย และเกือบทุกพรรค ดังนั้น ถ้าโพลออกมาอยู่พรรคไหนแล้วชนะจะไปพรรคนั้นเลย ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็มีมาทาบทาม ที่เคยมีปัญหากันมาก็ให้อภัยไม่โกรธกัน แต่เราต้องมีจุดยืน ยกตัวอย่างเช่นพรรคเพื่อไทย เราเคยไปไล่เขา ถ้าต้องไปอยู่กับเขาเราก็ลำบากใจ และคงเดินในตลาดไม่ได้ คงถูกแม่ค้าเอาน้ำสาดไล่ออกจากตลาดแทบไม่ทัน เพราะเป็นขั้วการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกันมานาน ต้องดูเหตุดูผล แต่การทำหน้าที่ก็เต็มความสามารถ แต่ถ้าประชาชนไม่เอาเราก็ต้องตามใจประชาชน

น.ส.รังสิมายังกล่าวถึงกรณี 14 ส.ส. ร่วมกันเข้าชื่อ ร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ตั้งคณะกรรมการสอบนักการเมืองใช้อำนาจมืดล็อบบี้ข้าราชการ และจ่ายเงินส.ส. ประมูลห้องอาหารจัดเลี้ยงส.ส. ในการประชุม ว่าตนเป็นกรรมการชิมอาหารทุกครั้งที่มีการประมูลร้านที่จะทำอาหารให้ ส.ส. ในการประชุม ซึ่งผลการคัดเลือกในครั้งนี้ยังไม่ออก ในตอนแรกตนยังไม่ทราบ แต่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดเผยว่ามีการจ่ายเงินและล็อบบี้กัน ตนคิดว่าหากเป็นแบบนี้ ต้องให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และอยากให้ยกเลิกวิธีการประมูลในลักษณะนี้

เราอยากให้มีการยกเลิกไปเลย เพราะว่าเงินงบประมาณแผ่นดินมันสูญเสียไปกับค่าอาหารมาก เราต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะอย่างปีก่อนๆ ที่ตั้งงบประมาณอาหารเป็นร้อยล้าน แต่ถ้าทำแบบรังสิมาเสนอจะเหลือประมาณ 50 ล้านบาทได้ หากจะประมูลแบบนี้ สมมติมี ส.ส. 500 คน ค่าอาหารคนละ 1,000 บาท 1 วัน จะตกค่าอาหารรวมทั้งหมด 500,000 บาท ซึ่งหาก ส.ส.ไม่มาประชุม สภาฯก็ยังเสียเงิน 500,000 บาท แล้วหากสภาฯล่ม ก็ต้องนำอาหารไปบริจาค ซึ่งปลายสมัยประชุมแบบนี้ สภาล่มบ่อยมาก

ปัจจุบัน ส.ส. ไม่มีสิทธิเลือกอาหาร กินได้ก็ต้องกิน กินไม่ได้ก็ไม่ต้องกิน แต่หากมีระบบคล้ายกับศูนย์อาหาร เงินในสภาจะเหลือ เพราะหาก ส.ส.ไม่ใช้ ระบบก็ส่งคืนคลัง แบบนี้มันเสียหายกับสภา เสียหายกับสมาชิกที่เป็นคณะกรรมการก็เลยลงชื่อกัน ให้ทางนายชวนตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการฮั้วกันจริงไหม มีการจ่ายเงินจริงไหม หากมีจริงต้องทำโทษ ต้องเอามาประจานว่าคนที่ทำเป็นใคร ทำให้สมาชิกที่เป็นกรรมการเสียหาย ประธานเสียหาย

ส่วน “บิ๊กเนม” ในสภาเกี่ยวข้องมาตั้งแต่สมัยสภาเก่าหรือไม่นั้น เรื่องนี้ตอบยากมีมือที่มองไม่เห็น เราไม่รู้ว่าใครไปล็อบบี้ใคร เพราะเรื่องนี้ถือมีผลประโยชน์เป็นร้อยล้าน จากที่คุยกับเพื่อนสมาชิกในกรรมาธิการกิจการสภาหลายคนเห็นด้วย แต่ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ในสภาฯ อย่างประธานด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องกู้ศักดิ์ศรีของสภาฯ ไม่ใช่เงินหมื่นเดียวไปเลือกร้านที่ ส.ส.กินกันไม่ได้ โดยเรื่องนี้ตนต่อสู้มาโดยตลอด ส่วนคนก็จะบอกว่าเราเสือกทุกเรื่องเลย แต่เราและรักษาผลประโยชน์ให้ประเทศชาติอย่างเรื่องนี้เราได้วันละ 1,000 บาท แต่เด็กได้น้อย ก็ทำให้ประชาชนไม่แฮปปี้กับสมาชิกอยู่แล้ว แต่ต้องกราบเรียนว่า ส.ส. ไม่สามารถออกไปทานอาหารข้างนอกได้ เพราะลงคะแนนไม่ทันในสภา จะเกิดความเสียหาย ประชาชนจะเสียผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นการบริการต้องอยู่ภายในนี้ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อถามว่า ค่าอาหารเงิน 1,000 บาท มากหรือน้อยไปหรือไม่ น.ส.รังสิมา กล่าวว่า หากมาทำงานจริงตั้งแต่เช้า เงินจำนวนเท่านี้ถือว่าโอเค.