เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีมีการนำเอากล่องบรรจุชุดตรวจโควิด-19 (ATK) มาใส่อาหารรับประทานว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกสุขอนามัย เนื่องจากกล่องดังกล่าว ไม่ได้ผลิตมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการบรรจุอาหาร แม้ว่าเครปจะสะอาด ปรุงสุก ร้อนๆ หรือบอกว่ากล่อง ATK ยังไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน แต่เมื่อบรรจุลงไปกล่องพวกนี้ ไม่แน่ใจว่ากล่องพวกนี้มีการเคลือบสารเคมีอะไรเอาไว้บ้าง และตกค้างอยู่จากกระบวนการผลิตกระดาษ หรือหมึกพิมพ์ จากโลหะหนัก ตะกั่ว ปรอทแคดเมียม จากสี หรือสารเคมีอื่นๆ ยิ่งอาหารร้อน มีน้ำ มีน้ำมันยิ่งเสี่ยงที่จะทำให้ดูดซึมเข้าสู่อาหาร และเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งสารเหล่านี้ หากสะสมเป็นเวลานานก็อาจจะทำให้เกิดมะเร็ง ดังนั้นไม่สมควรจะนำมาใช้ แม้กระทั่งกระดาษ A4 ขาวๆ ที่ยังไม่ได้ใช้งาน ก็ไม่ควรนำมาใช้ เพราะมีสารเคมีจากกระบวนการผลิตกระดาษเช่นกัน

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีอาหารจำนวนมากที่หลีกเลี่ยงการใช้โฟม เปลี่ยนมาใช้กระดาษแทน เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด กล้วยทอด ปาท่องโก๋ หรืออาหารประเภทต่าง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 จะมีความนิยมมากขึ้น มีคำถามตามมาว่ากระดาษเหล่านั้นปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้นขอแนะนำร้านค้าต่างๆ ว่า ให้ใช้กระดาษสำหรับบรรจุอาหารโดยตรง (Food Grade) จะดีกว่า เพราะเป็นมิตรต่อสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อร้านค้าเองด้วย

“บางคนบอกว่านานๆ กินที คงไม่เป็นอะไร แต่ขอเตือนว่า ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ขอให้หลีกเลี่ยงจะดีกว่า เพราะผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากสารเหล่านี้ไม่ได้เห็นผลทันที แต่ค่อยๆ สะสม ซึ่งในต่างประเทศ มีการศึกษาพบว่ามีสารที่อยู่ในกระดาษ อย่างเช่น ฟลูออรีน หากได้รับเข้าสู่ร่างกายและสะสมจะเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง ไทรอยด์เป็นพิษ ภูมิต้านทานบกพร่อง ถ้าเป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์ทำให้มีลูกยากหรือทำให้ทารกในครรภ์คลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ” นพ.เอกชัย กล่าวและว่า ที่ผ่านมา กรมอนามัยยังไม่เคยมีการสำรวจว่า ปัจจุบันมีการใช้กระดาษรองอาหารเป็นฟู้ดเกรด หรือกระดาษทั่วไป มากน้อยแคไหน แต่จากนี้ต้องมีการสุ่มตรวจมากขึ้น พร้อมกับการออกคำแนะนำในการปรุง การบรรจุอาหารให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้น.

ขอบคุณภาพ นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา จากเฟซบุ๊ก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข