เอาอีกแล้ว!!! มาอีกแล้วนโยบาย “ขายฝัน” ขึ้นค่าแรง ทำเอาตื่นตระหนกตกใจกันแทบทุกวงการ หลัง “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ขึ้นเวทีเรียกกระแสช่วงใกล้เลือกตั้ง ประกาศเปรี้ยง! ถ้า “พรรคเพื่อไทย” ได้เป็นรัฐบาล คนไทยต้องได้ค่าแรง “ขั้นต่ำ” ไม่ต่ำกว่า 600 บาท เงินเดือนจบปริญญาตรี 25,000 บาทขึ้นไปในปี 70 ทำเอาหลายฝ่ายออกมาทั้งสับแหลก ฉะยับเพ้อฝันโยนภาระ อีกฟากออกมาชูแขนเชียร์ ขายฝันดีกว่าไม่ทำอะไร อวยพรขอให้ทำได้จริง!

ถกด่วนต้านค่าแรง 600 บ.

แต่เสียงที่ต้องหยุดฟัง!!! คือ เวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบไปด้วยสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (...) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุด และมีบทบาทสำคัญที่สุดของภาคเอกชน ที่ต้องหยิบยกขึ้นมาถกเป็นวาระร้อน วาระด่วน!!! ทันที เพราะเป็นคนแบกรับ “ภาระ” โดยตรง และยังเป็นฝันร้ายของภาคเอกชนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่อดีตรัฐบาลสมัย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ทำเอาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ล้มหายตายจากไปหลายรายทีเดียว บางรายก็อาการร่อแร่กว่าจะฟื้นกลับขึ้นมาได้

การที่ กกร. “เบรกเอี๊ยดต้านรุนแรง” ขอให้พรรคการเมือง เลิกหยิบเรื่องการขึ้นค่าแรง แม้เป็นการทยอยขึ้นก็ตาม พร้อมย้ำ!!! ขอให้การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกวันนี้ โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง หรือคณะกรรมการไตรภาคี ด้วยเพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณาอย่างรอบด้านทุกมิติ ทั้งค่าครองชีพของลูกจ้าง อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ราคาสินค้า

อดีตยังฝันร้ายธุรกิจเจ๊ง

พร้อมยกเหตุการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน เมื่อปี 54 ถึงแม้จะดำเนินการได้ แต่ผู้ประกอบการต้องบาดเจ็บอย่างหนัก ทั้งเอสเอ็มอีที่ลำบากอย่างหนัก บางรายต้องเลิกกิจการ รายที่อยู่รอดก็กว่าจะฟื้นตัว ส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางราย ก็ต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน ยิ่งถ้าค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 600 บาทต่อวัน จากค่าแรงเฉลี่ยปัจจุบันที่ปรับขึ้นมา 5% อยู่ที่ 328–354 บาทต่อวัน แม้เป็นการทยอยขึ้น จะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ทำให้ภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน

แต่ถ้ายังฝืนต่อไป อาจส่งผลให้หลายกิจการแบกรับต้นทุนไม่ไหว มีแนวโน้มกลับมาเจ๊ง!!! หลายรายแน่นอน อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ต้องทบทวนแผนการจ้างงาน ชะลอการลงทุนในระยะสั้น หรือแม้แต่การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้แทนแรงงาน รวมถึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศที่อาจชะลอลงเพราะต้นทุนค่าแรงของไทยสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่ง ซึ่งส่วนนี้จะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

Close-up business hand shake

เปิดธุรกิจรับผลกระทบ

ทุกครั้งที่มีการปรับขึ้นค่าแรงงาน กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากมากที่สุด คือ ธุรกิจเกษตร-เกษตรแปรรูป, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารพื้นฐาน, ธุรกิจก่อสร้าง, โรงแรมและที่พัก, ร้านอาหาร, โลจิสติกส์, อุตสาหกรรมรับจ้างการผลิต, โรงงานสิ่งทอ, โรงงานทำเครื่องหนัง เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานจำนวนมาก

หากมองย้อนกลับไประยะเวลากว่า 10 ปี (ปี 55-64) ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยปรับขึ้นอยู่ที่ 13-36 บาท หรือคิดเป็น 4-12% ก่อนที่จะไม่มีการปรับในปี 63-64 ขณะที่ดัชนีเงินเฟ้อ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6.3% ขณะที่ดัชนีอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 14% ทำให้ล่าสุดค่าแรงงานไทยสูงสุดอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ค่าแรงเฉลี่ย 1,423 บาทต่อวัน บรูไน เฉลี่ย 664 บาทต่อวัน

ใช้ไตรภาคีเหมาะสมแล้ว

ณ เวลานี้ภาคเอกชน จึงดาหน้าพร้อมใจกันออกมา ขอให้ “ทุกพรรคการเมือง” หยุดยกเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงงานที่ไม่สมเหตุสมผล ผลักภาระให้ภาคเอกชนเสียที!!! ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามคณะกรรมการไตรภาคีที่ตั้งขึ้นมา ซึ่งมีการพิจารณาทุกอย่างสมดุล และรอบด้านครบทุกมิติ ก่อนที่ขีดความสามารถแข่งขันของประเทศไทย จะยิ่งแย่ไปกว่านี้!!!

เพราะทุกครั้งที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ออกมาพูด ออกมาพ่น ออกมาขายฝัน เรื่องค่าแรงสูง ๆ ส่งผลกระทบตรงกับนักลงทุนต่างชาติ ที่กำลังตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ต่างหยุดชะงัก เพื่อรอดูความชัดเจนค่าแรงงาน ถือเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญในการดำเนินธุรกิจของประเทศไทย ยิ่งเวลานี้ประเทศคู่แข่งของไทย อย่าง “เวียดนาม” กำลังดึงดูดการลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกแข่งขันกับไทย มีต้นทุนต่าง ๆ ต่ำกว่าไทยมาก และยังมีข้อตกลงการค้ากับประเทศทั่วโลกเยอะกว่าประเทศไทยอย่างมาก ยิ่งทำให้ประเทศไทยสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขันมากขึ้น

เปิดมุมมองวิชาการ

ขณะเดียวกันหากมองในมุมวิชาการ เคยมีข้อศึกษาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ใช่ตัวเลือกสำหรับเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนในประเทศ รวมถึงไม่ใช่เรื่องที่ยั่งยืนสำหรับการพัฒนา แท้จริงแล้วคนทั้งประเทศควรได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าระดับค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากจะไม่พอสำหรับการจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์ยังถือเป็นการบิดเบือนตลาด มีผลให้ประสิทธิภาพของตลาดลดลง

เพราะฉะนั้นไทยควรมุ่งไปสู่การมีค่าแรงที่สูงเพียงพอต่อการยังชีพ และเป็นค่าแรงที่กำหนดขึ้นตามกลไกราคา ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการให้แรงงานมีศักยภาพที่เพิ่มขึ้น มีการใช้ทักษะที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ผ่านการสร้างช่องทางที่เอื้อต่อการศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมให้กับแรงงาน ทางฝั่งธุรกิจ จำเป็นต้องยกระดับตนเอง เพิ่มการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพสูงขึ้น ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีมูลค่าเพิ่มขึ้น พร้อม ๆ กับพัฒนาทักษะให้แรงงาน ขณะที่สัดส่วนค่าจ้างที่แรงงานจะได้รับก็จะสูงขึ้นตามมา

สิ่งสำคัญอีกอย่าง การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน รัฐควรสนับสนุนการรวมกลุ่มของแรงงาน เช่น สหภาพแรงงาน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับแรงงาน โดยให้การรวมกลุ่มเป็นแหล่งเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมถึงรัฐต้องสร้างแพลตฟอร์มที่ให้ข้อมูลด้านตลาดแรงงาน เพื่อสร้างทางที่จะนำแรงงานไปสู่อาชีพและทักษะที่ตลาดต้องการ ซึ่งในโลกที่ไม่แน่นอน คาดเดายาก และเปลี่ยนแปลงเร็ว แพลตฟอร์มนี้ยิ่งทวีความสำคัญ ส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องแก้ไขการแข่งขันที่ผูกขาด โปร่งใสไม่คอร์รัปชัน ทั้งหมดนี้…ก็จะสามารถช่วยให้ศักยภาพของแรงงานและเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Building new concrete houses

เอกชนหนีตายหาทางรอด

ต้องยอมรับว่า ค่าแรงขั้นต่ำคงไม่หยุดอยู่อัตรานี้ อีกไม่นานก็ต้องปรับขึ้นต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นตัวผู้ประกอบการเอง ต้องเร่งหาวิธีการปรับตัว หรือเอาตัวรอดอย่างเร่งด่วน เช่น การเพิ่มทักษะการปรับกระบวนการทำงาน นำกระบวนการผลิตให้กระชับ ลดขั้นตอนคอขวดต่าง ๆ ให้งานไม่สะดุด รวมถึงให้มีส่วนสูญเสียในการผลิตต่ำที่สุด รวมถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ลดจำนวนแรงงาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานต่อรายได้

ภาครัฐเองควรช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการช่วยสนับสนุนด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิต รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก เช่น การนำโซลาร์รูฟท็อป มาใช้ในโรงงงานอุตสาหกรรม และการเข้าถึงแหล่งทุนก็สำคัญ เนื่องจากการเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องมีเงินทุนเข้ามาช่วย อีกทั้งรัฐต้องหาวิธีการอำนวยความสะดวกเรื่องการทำธุรกิจมากที่สุด เช่น ระบบเนชั่นแนลซิงเกิ้ลวินโดว์ส ที่เป็นระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจสำหรับการนำเข้าส่งออกและโลจิสติกส์โดยผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางไปยื่นเอกสารให้กับหลายหน่วยงานเพื่อผลิตสินค้าหรือส่งออกสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่สามารถทำบนสมาร์ทโฟนได้เลย จะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบธุรกิจได้อีกมาก

ขณะที่ เอสเอ็มอี ควรนำเทคโนโลยีง่าย ๆ ราคาไม่สูงมาใช้ เช่น การนำระบบสายพานลำเลียงหรือคอนเวย์เยอร์ มีตั้งแต่ระบบพื้นฐานแบบลูกกลิ้งไปจนถึงระบบออโตเมชั่น, เครื่องแพ็กกิ้ง-บรรจุภัณฑ์ ประเภทต่าง ๆ, การใช้แขนกลอัตโนมัติ เป็นโรบอตประเภทหนึ่ง มีตั้งแต่ราคาประมาณ 500,000 ถึงหลายล้านบาท ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันราคาถูกลงมาก เป็นทางเลือกหนึ่ง ลดการใช้แทนกำลังคน และลดผลกระทบต่อการขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะที่ไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนมาก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มเพื่อหลีกหนีตลาดล่างที่จะแข่งขันราคารุนแรง และใช้ดิจิทัลเป็นช่องทางเพิ่มการจำหน่าย

สุดท้ายถ้าการเมืองยังคงใช้ “ค่าแรง” มาแลกคะแนนเสียง สุดท้าย…คนที่รับกรรมหนีไม่พ้น “แรงงาน” นั่นแหละ!!

เอกชนชี้ผลกระทบรุนแรง

วรวุฒิ กาญจนกูล” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน บอกว่า นโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาทต่อวัน ของพรรคเพื่อไทย จะมีผลกระทบอย่างมากต่อภาคธุรกิจทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เนื่องจากหากค่าแรงที่ประกาศออกมาเป็นจริงเท่ากับปรับขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้คนที่รับงานไว้แล้วไปไม่ไหวหรือคนที่รับงานใหม่หากค่าแรงสูงขึ้นเกินไปจะทำการตลาดยากขึ้น จะทำให้เป็นปัญหาต่อระบบธุรกิจในอนาคต และมองว่าจะไม่เป็นผลดีต่อพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง เพราะนักธุรกิจอาจต้องคิดหนักและอาจจะไม่เลือกเพื่อไทย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาค่าแรงขั้นต่ำได้ปรับขึ้นเกือบ 10% สูงสุด 353 บาทต่อวัน มีผลต่องานก่อสร้างและราคาบ้านประมาณ 2% ถ้าค่าแรงขึ้นเป็น 600 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 250 บาท เท่ากับปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% จะส่งผลกระทบต่อค่าก่อสร้างและราคาบ้านประมาณ 15% ถือว่าสูงมาก เพราะกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทางตรงกระทบกับภาคแรงงานร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ต้องปรับขึ้นค่าขนส่ง เพราะอยู่ในส่วนของกิจกรรมด้านเศรษฐกิจทั้งหมด

“ปัจจุบันผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนสูงอยู่แล้ว จากผลกระทบสงคราม ราคาพลังงาน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นโดยเฉลี่ย 10% เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ด้วย ซึ่งนักธุรกิจส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจอยู่ในขณะนี้ไม่ได้มีกำไรอะไรมาก ต่างพยายามประคองตัวกันไปอยู่ เพราะไม่รู้อีกกี่ปีเศรษฐกิจถึงจะดีขึ้นอย่างเต็มที่”

ทำลายโครงสร้างค่าแรง

ธนิต โสรัตน์” รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย มองว่า การผูกกับค่าแรงที่สูงจะทำให้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีเกียรติ ซึ่งประเด็นนี้ยังกังขาว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่ หากดำเนินการถือเป็นการทำลายโครงสร้างไตรภาคี ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำในการพิจารณาของไตรภาคีถึงแม้บางครั้งภาคการเมืองจะเข้ามาก็ต้องชี้นำอยู่ในไตรภาคี การประกาศนโยบายเช่นนี้จะทำลายโครงสร้างค่าจ้างที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความสามารถของนายจ้างและความเดือดร้อนของลูกจ้าง และไม่ชัดเจนว่าเป็นนโยบายของพรรคหรือขัดต่อกฎหมาย

“หากเป็นจริงประเทศไทยอาจสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนและการส่งออก ผลดีจะตกไปอยู่กับประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งจะส่งสินค้าราคาถูกกลับเข้ามาขายในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ปี 55-56 พรรคเพื่อไทยสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ เป็นการปรับแบบก้าวกระโดดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ 141 บาท หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 70-88% เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนและการส่งออกชะลอตัว”

ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งประกาศใช้ 1 ต.ค. มี 9 อัตรา แต่ละจังหวัดไม่เท่ากันสูงสุดวันละ 354 บาท ต่ำสุดวันละ 328 บาท ซึ่งนโยบายพรรคเพื่อไทยชูเป็นประเด็นหาเสียงคือ วันละ 600 บาท ภายในปี 70 หากใช้อัตราค่าจ้างของ กทม.และปริมณฑลเป็นฐานจะทำให้ค่าจ้างที่ต้องปรับขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้าวันละ 247-250 บาท หรือเฉลี่ยขึ้นปีละ 50 บาท หากใช้เหมือนเมื่ออดีต คือ เท่ากันทุกจังหวัด จังหวัดที่กระทบมากสุดคือ กลุ่มจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์เศรษฐกิจ เช่น ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, น่าน และอุดรธานี และกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างด้าวปัจจุบันมีจำนวน 2.4 ล้านคน.

…ทีมเศรษฐกิจ…