เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2565 คณะลูกขุนศาลไมอามีตัดสินให้ วาเลสกี บาโรซี มีความผิดจริงตามข้อหาหลอกลวงทรัพย์ผ่านระบบออนไลน์, ฟอกเงินและขโมยอัตลักษณ์และข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อฉ้อโกงทรัพย์ เขาจะต้องรับโทษจำคุก 20 ปีเป็นอย่างน้อย โดยโทษของเขาจะได้รับการกำหนดอย่างแน่ชัดจากผู้พิพากษารอดนีย์ สมิธ แห่งศาลรัฐบาลกลางประจำเขตฟอร์ต ลอเดอร์เดล ในวันที่ 23 ก.พ. ปีหน้า

บาโรซี วัย 28 ปี มีภาพลักษณ์เป็นนักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ที่สร้างตัวจากชีวิตเดิมในฐานะผู้อพยพจากเฮติ เขามักอวดภาพชีวิตอันหรูหราของเขาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น การโดยสารเครื่องบินเจ๊ตส่วนตัว หรือภาพที่เขาขับรถซูเปอร์คาร์แลมโบกินีคันโปรด บัญชีอินสตาแกรมของเขามีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากถึง 110,000 ราย 

บาโรซี สร้างเรื่องราวชีวิตของเขา โดยอ้างว่า เขาไต่เต้าจากการเป็นพนักงานระดับล่างในห้างวอลมาร์ต จนถึงตำแหน่งรองประธานส่วนภูมิภาคของบริษัทที่ปรึกษาปัญหาเครดิตทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งทำยอดรายได้เข้าบริษัทได้เป็นจำนวนมากถึง 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 124.5 ล้านบาท) 

แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางชี้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ความร่ำรวยของ บาโรซี มาจากการฉ้อโกงภาษีของประชาชน ด้วยการสร้างหลักฐานหลอกลวงเอาเงินกู้จำนวน 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 72.6 ล้านบาท) จากโครงการให้สินเชื่อเพื่อคุ้มครองธุรกิจ (Paycheck Protection Program : PPP) สำหรับธุรกิจที่ประสบปัญหาสภาพคล่องเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด 

เขาสร้างหลักฐานค่าใช้จ่าย, ตัวเลขกำไรสุทธิและบัญชีเงินเดือนพนักงาน รวมถึงปลอมแปลงเอกสารภาษีของบริษัท VBarosySolutions ซึ่งเขาเป็นประธานบริหาร เพื่อขอกู้ยืมเงินหลายก้อน จากนั้นก็นำเงินไปซื้อข้าวของหรูหราต่าง ๆ เช่น รถแลมโบกินี รุ่น Huracán EVO, นาฬิกาโรเล็กซ์และเสื้อผ้าแบรนด์หรูอย่าง หลุยส์ วิตตอง, กุชชี่ และ ชาเนล 

โครงการ PPP ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาสหรัฐตั้งแต่ปี 2563 โครงการนี้ยินยอมให้ยกเลิกหนี้เงินกู้ได้ ถ้าหากคุณสมบัติของผู้กู้ตรงกับเงื่อนไขของหน่วยงานดูแลธุรกิจขนาดเล็ก (Small Business Administration : SMA) โดยเป็นส่วนหนึ่งของการใช้งบประมาณตามกฎหมาย CARES Act ซึ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด

บาโรซี เป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยหลายรายที่ฉ้อโกงงบประมาณรัฐบาลผ่านช่องทางจากโครงการ PPP การใช้เงินกู้ยืมจากโครงการไปซื้อรถแลมโบกินีสุดหรูคันละ 318,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10.9 ล้านบาท) ถือว่าผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับบุรุษพยาบาลรายหนึ่ง ที่กู้ยืมเงินจากโครงการราว 474,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 16.3 ล้านบาท) โดยอ้างหลักฐานลวงทางธุรกิจ แล้วนำเงินไปซื้อรถเบนซ์และจ่ายค้าเลี้ยงดูบุตร รวมถึงคู่สามีภรรยาจากไมอามีตอนเหนือที่แอบอ้างตัวว่าเป็นเกษตรกร เพื่อให้เข้าเงื่อนไขกู้ยืมเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 34.5 ล้านบาท) จากโครงการ

แหล่งข่าว : miamiherald.com

เครดิตภาพ : Instagram/ valesky_barosy