สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เกี่ยวกับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งยืดเยื้อมานาน 10 เดือนแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลมอสโกไม่เคยมีเป้าหมายปลุกปั่นให้การสู้รบยืดเยื้อหรือขยายวง ในทางกลับกัน รัสเซียมีความมุ่งมั่นมาตลอด ที่จะยุติสงครามครั้งนี้ตามแนวทางการทูต หาก “บรรดาปรปักษ์” มีความเข้าใจไปในทางเดียวกัน “ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี”


ถ้อยแถลงดังกล่าวของผู้นำรัสเซียเกิดขึ้น หลังประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เยือนกรุงวอชิงตันอย่างเป็นทางการ เมื่อวันพุธ ซึ่งได้รับการต้อนรับ “เยี่ยงวีรบุรุษ” จากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสภาคองเกรส โดยรัฐบาลวอชิงตันประกาศมอบความสนับสนุนให้แก่ยูเครนเพิ่มอีก 1,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 64,491 ล้านบาท) รวมถึงการมอบระบบป้องกันแพทริออต ซึ่งปูตินกล่าวว่า การทำแบบนี้มีแต่จะยิ่งทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ พบหารือกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ที่ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน


ขณะที่นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า การเยือนสหรัฐของเซเลนสกีสะท้อนชัดเจนว่า ทั้งไบเดนและรัฐบาลเคียฟ “ไม่เคยให้ความสำคัญกับความวิตกกังวลของรัสเซีย” และเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลวอชิงตันมายังรัฐบาลมอสโก ว่า สหรัฐและพันธมิตรต้องการ “ทำสงครามตัวแทน” กับรัสเซีย บนแผ่นดินยูเครนต่อไป


ด้าน พล.อ.วาเลอรี เกราซิมอฟ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของรัสเซีย กล่าวถึงสถานการณ์สู้รบในแนวหน้า ว่า ตอนนี้เป็น “การให้ความสำคัญ” กับการปลดปล่อยพื้นที่ยุทธศาสตร์ในภูมิภาคดอนบาส ที่อยู่ทางตะวันออกของยูเครน ได้แก่ โดเนตสก์ ลูฮันสก์ ซาโปริชเชีย และเคียร์ซอน.

เครดิตภาพ : REUTERS