เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็มาพร้อมกับคำถามคาใจคนไทยส่วนใหญ่ว่า การอับปางของเรือรบหลวงในกรณีที่เกิดขึ้นระหว่างการสงครามเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่การอับปางในสถานการณ์ที่นอกเหนือจากการสงคราม เพียงเพราะฝ่าคลื่นลมแรงจนกระแสน้ำทะลักเข้าเรือนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้น ก็เป็นเรื่องที่ทางกองทัพเรือจะต้องตรวจสอบ และออกมาชี้แจงให้คนไทยเข้าใจ และจะต้องเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเต็มที่ ซึ่งล่าสุด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้บินด่วนไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บ ร่วมรับร่างกำลังพลที่เสียชีวิต และให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ผลพวงจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” ในฐานะ รมว.กลาโหม ที่บรรดาแกนนำฝ่ายค้านต่างออกมาหมายหัว เรียกร้องให้มีการแสดงความรับผิดชอบ ทั้งในประเด็นการซ่อมบำรุง ประเด็นชูชีพไม่เพียงพอ ลามไปถึงเรื่องการจัดหาเรือดำน้ำ

นอกจากเรื่องน่าเศร้าของ “เรือรบหลวง” แล้ว ปรับโฟกัสมาที่สภาพของ “รัฐบาลเรือเหล็ก” ภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” ที่ยังต้องลุ้นระทึกกันต่อ โดยล่าสุดมีการส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า จะอยู่ต่ออีก 3 เดือน หรือพูดง่ายๆ คืออยู่จนเกือบครบวาระ ก่อนจะยุบสภาก่อนครบวาระ เพื่อเปิดช่องใช้เทคนิกทางกฎหมาย ทั้งในเรื่องการล้างบัญชีการกระทำที่สุ่มเสี่ยงของพรรคการเมือง ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ในช่วงเวลา 180 วัน ก่อนครบอายุสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนการยืดเวลาหาเสียงเลือกตั้ง ที่จะเข้าตามกรอบเวลา 45-60 วัน

โดยที่ “บิ๊กตู่” ได้มีการประกาศความชัดเจนว่า จะไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และเตรียมเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียวของพรรค

พร้อมย้ำว่า “การแยกตัวมาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ได้มีปัญหากับ พล.อ.ประวิตร เพราะได้พูดคุยและบอกกล่าว ทำความเข้าใจกันแล้ว ซึ่งเข้าใจกันดี ไม่มีปัญหา เพราะความสัมพันธ์แบบทหารกับทหาร มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ยากที่จะแตกแยกได้”

ท่ามกลางสภาพการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร อันน่าเอือมระอา จากเหตุการณ์ “สภาล่มซ้ำซาก” จนทำเอา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ต้องออกมาสะบัดมีดโกนแฉเบื้องหลังสภาล่ม ว่า สมาชิกสภาไปกองกันอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นเยอะ โดยใช้งบไปกับกรรมาธิการ และยอมรับว่าในบางช่วงองค์ประชุม “ว้าเหว่” เพราะสมาชิกพรรคของแต่ละพรรคมีการเปลี่ยนแปลง ลาออกเกือบทุกวัน จึงทำให้มีความสับสนอยู่พอสมควร

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีการลาออกของ ส.ส. ตามเกมย้ายขั้วเปลี่ยนพรรคกันเป็นว่าเล่น แบบไม่แคร์สายตาประชาชน จนล่าสุด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ถึงขั้นต้องออกมาโวย ซัด ส.ส. เลี้ยงไม่เชื่อง ที่ลาออกจากพรรคแล้วย้ายไปอยู่พรรคที่ไม่มีมารยาท พรรคที่มีพฤติกรรมดูด ส.ส.

อย่างไรก็ตาม เมื่อสแกนดูความพร้อมของแต่ละพรรคการเมือง ก็จะพบว่าพรรคที่ฟูที่สุด แบบดูดีมีออร่า ก็หนี้ไม่พ้น พรรคภูมิใจไทย ที่มีบรรดาอดีต ส.ส. ตบเท้าแห่เข้าซบกันชนิดที่ว่าหัวกระไดพรรคไม่แห้ง แต่เมื่อพิจารณากันดีๆ ก็จะเห็นได้ว่า คนที่ไปซบใต้ชายคาพรรคภูมิใจไทย มีทั้งนักการเมืองเกรด A ที่เป็นอดีต ส.ส. มาหลายสมัย และนักการเมืองเกรด A ที่เป็นอดีต ส.ส. สมัยแรก แต่มโนไปว่ามีแนวโน้มจะได้กลับเข้ามาเป็น ส.ส. อีกสมัย ตามโพลที่สำรวจคะแนนนิยม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คงจะต้องรอดูผลเมื่อเปิดสนามรบแล้ว เพราะถึงเวลานั้น ทุกพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน คงจะต้องสู้ยิบตา ต้องงัดกลยุทธ์ทุดกระบวนท่า รวมถึงวิชามารออกมาใช้ เพื่อให้ไปถึงฝั่งฝันชนะการเลือกตั้งในท้ายที่สุด

และพรรคที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตอนนี้ก็ตีปี๊บกันยกใหญ่ หลังจาก “บิ๊กตู่” นำร่อง ด้วยการเซ็นแต่งตั้ง “เสี่ยตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ขยับจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ขึ้นแท่นนั่งตำแหน่ง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หรือตำแหน่ง “นายกฯ น้อย” รวมทั้งการประกาศความชัดเจนทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” ซึ่งก็ทำให้พลพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่างออกอาการคึกคักไปตามๆ กัน

โดยงานนี้ มีการออกแบบวางโครงสร้างพรรค เพื่อรองรับ “บิ๊กตู่” ในรูปแบบของ คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานของพรรค หรือที่เรียกว่า “ซูเปอร์บอร์ด” ในลักษณะคล้ายกับ คณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง หรือ โปลิตบูโร ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขึ้นมากำกับการดำเนินงานด้านต่างๆ ของคณะกรรมการบริหารพรรคอีกชั้นหนึ่ง โดยจะมี “บิ๊กตู่” นั่งกุมบังเหียนในตำแหน่งประธาน ร่วมกับหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และ “บิ๊กเนมวีไอพี” แกนนำระดับสูงบางราย ทั้งที่อยู่กับพรรคแล้ว และที่กำลังจะย้ายเข้ามาเพิ่มเติม เข้ามาอยู่ในโครงสร้างดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังมีข่าวว่า “ชัช เตาปูน” ชัชวาลล์ คงอุดม อดีตหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท เตรียมเข้าร่วมกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ ตามรอยบุตรชาย ที่เข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ไปก่อนหน้านี้ พร้อมยังเดินเกมคู่ขนานกับ พรรคพลังท้องถิ่นไท ที่ก็ยังเดินหน้าทำการเมืองต่อไป

แต่งานนี้พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็อาจจะเจอรอยสะดุด จากกรณี “ปฏิทินร้อน” ของ สายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ที่มีการใช้รูปตัวเองคู่กับรูป “บิ๊กตู่” พร้อมด้วยสัญลักษณ์ของพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมอยู่ในภาพเดียวกัน จนถูกมองว่า เป็นการเข้าข่ายหลอกลวง จูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เนื่องจาก “บิ๊กตู่” ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค หรือแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอย่างเป็นทางการ และการใช้ข้อความ สัญลักษณ์ ของพรรคโดยมิชอบ ขณะที่ “บิ๊กตู่” ก็ออกมาตีชิ่งเลยว่าว่า “ฉันไม่ได้ทำ ฉันไม่รู้เรื่อง”

ดังนั้น คงจะต้องรอดูกันต่อไปว่า ปมปฏิทินร้อนจะส่งผลกระทบต่อการเตรียมทัพสู้ศึกเลือกตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ พรรคพลังประชารัฐ ก็มีการเปิดตัว ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แพ็กใหญ่ 55 คน กระจายในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยที่มีการจับตามองกันมาที่สุดคือ มีคนนามสกุล “วงศ์สวัสดิ์” ซึ่งเป็นนามสกุลเดียวกับ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมเปิดตัวเป็นผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐถึง 2 คน ในพื้นที่ลำพูน และลำปาง นอกจากนั้น ยังมีข่าวว่ามีอดีต ส.ส. จากพรรคอื่นเตรียมเข้าเปิดตัวภายใต้แบรนด์พรรคพลังประชารัฐ อีกจำนวนหนึ่ง อาทิ นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ อดีต ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดิน นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล อดีตผู้ว่าฯ ปัตตานี นายอิสมาแอล เบ็ญอิบรอฮีม อดีต ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

ซึ่งงานนี้ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค ก็ได้ประกาศกร้าวเลยว่า จะเปิดตัวให้ครบ 400 เขต และจะทำให้ใจบันดาลแรง เพื่อให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ซึ่งก็สอดรับกับที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค เคยออกมาระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ จะเสนอ “บิ๊กป้อม” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พรรคพลังประชารัฐ ก็ยังถูกมองว่าอาจจะมี “ดีลลับ” กับพรรคเพื่อไทย ด้วยคอนเนกชั่นสายสัมพันธ์อันดีของ “บิ๊กป้อม” ที่พูดคุยได้ทุกกลุ่ม ประกอบกับล่าสุดเจอเกมพลิกในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 ที่มีกระแสข่าวว่า มีการตีตกข้อกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหารายใหญ่ ทั้ง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็ยิ่งทำให้หลายๆ คนปักใจเชื่อว่าเรื่อง “ดีลลับ” จับขั้วเปลี่ยนข้างมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูว่า การจัดทัพของแต่ละพรรค เพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง ที่สุดท้ายแล้วจะสู้กันในสนามรบอย่างไร

ปิดท้ายด้วยการที่พรรคฝ่ายค้าน เตรียมยื่นอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ก่อนสิ้นปี โดยคาดว่าจะได้อภิปรายช่วงปลายเดือน ม.ค. ทั้งนี้ ก็เพื่อเดินเกม “สกัดดาวรุ่ง” ของฝ่ายรัฐบาล ปิดทางชิงยุบสภาหนี โดยหวังใช้เวทีสภา “เปิดแผล” ของรัฐบาล ก่อนต่อยอดนำไปโจทตีต่อในการหาเสียงเลือกตั้ง

ซึ่งงานนี้ ถ้ารัฐบาลพลาดท่า ไม่ตั้งรับให้ดี ไม่ทำการบ้านในการชี้แจงให้ดี ก็จะเป็นอีกเกมที่เข้าทางฝ่ายค้าน และตัดแต้มฝ่ายตัวเองในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

สุดท้ายคงจะต้องรอดูกันว่า “รัฐบาลเรือเหล็ก” จะฝ่าคลื่นลมแรงทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายเพื่อไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ หรือสุดท้ายจะต้องอับปางลงกลางทะเลอำนาจ ที่ยากจะคาดคะเน.