บรรยากาศผู้ประกอบการ ไปจนถึงรถเร่ ย่านสถานบันเทิงที่ผุดขึ้นคึกคัก อาจไม่ได้สะท้อนแง่มุมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ แต่ “อาศัย” ประโยชน์จากการปลดล็อก ประกอบกับ “กฎหมายหลัก” พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ที่ชะงักกลางอากาศ แม้มี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ขึ้นมาปิดช่องคุมใช้ “ช่อดอก” แต่มองแล้วยังไร้อนาคต เพราะแนวโน้มสุญญากาศข้ามปีแล้วแน่นอน

“ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถาม ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อขอให้วิเคราะห์สถานการณ์กัญชาที่มีต่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนผลพวงการควบคุมที่ยังมีช่องโหว่ โดยเริ่มต้นมองว่าการปลดล็อกกัญชาจากบัญชียาเสพติดโดยขาดมาตรการป้องกันการใช้ในทางผิดแต่แรก แม้กระทรวงสาธารณสุขจะพยายามไล่ออกประกาศตามหลังก็ยังไม่ครอบคลุม

มีแต่ ‘คันเร่ง’ ไร้เบรก-ไร้พวงมาลัย

สถานการณ์กัญชาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนจึงเปรียบเหมือนการขับรถที่มีแต่ “คันเร่ง” ไม่มี “เบรก” และ “พวงมาลัย” ทำให้เกิดอุบัติเหตุ (ผลกระทบทางลบ) อย่างที่ปรากฏเป็นข่าว คือการใช้กัญชาที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายหลักทางการแพทย์ แต่กลับใช้เพื่อสันทนาการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการใช้เพื่อเสพหรือสูบ รวมถึงการเข้าถึงได้ง่ายกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพราะการปลดล็อกให้ปลูกในบ้านได้ เป็นสิ่งที่เด็กไม่ต้องฝ่าข้อควบคุมเรื่องอายุเมื่อต้องซื้อขาย เพราะปลูกอยู่ในบ้านเรียบร้อยแล้ว

ศ.นพ.ชวนันท์ ชี้ข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ว่าจากข่าวที่ปรากฏต่อเนื่อง อาทิ เด็กนั่งสูบกัญชาอยู่ข้างทางสาธารณะที่พื้นที่พัทยา, เด็กวัย 16 ปี ในพื้นที่สัตหีบทำร้ายร่างกายแม่เพราะขอเงินไปใช้หนี้กัญชา สรุปแล้วประกาศควบคุมที่ออกมาสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ จุดนี้ต้องน้อมรับไปพิจารณาและหาวิธีบรรเทาให้เร็วที่สุด

ผลพวงเลวร้ายสู่อาชญากรรม-โรคจิตเภท

ทั้งนี้ ระบุถึงผลกระทบจากการใช้ในวัยนี้ว่าทำให้การยับยั้งชั่งใจ และสติสัมปชัญญะลดลง ผลตอบสนองทันทีหลังการใช้กัญชา 30 นาที คือ อาการเมากัญชา รู้สึกเคลิบเคลิ้ม การตอบสนองสิ่งรอบข้าง ความระแวดระวังจะช้าลง  บางรายเกิดภาพหลอน และบางรายนำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่น ๆ และยังทำให้หัวใจเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะคล้าย “แพนิค” หากเป็นโรคหัวใจอยู่เดิมอาจอันตรายถึงชีวิต

ดังนั้น หากต้องใช้สติในการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน จึงเสี่ยงอุบัติเหตุหรือเป็นอันตราย โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ความสามารถระมัดระวังตัวจะลดลง อาจก่อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ แย่ที่สุดคือนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม เพราะไม่มีทางรู้ได้ว่าเด็กที่ใช้กัญชาอยู่นั้น เมื่ออยู่ในสภาวะเห็น “ภาพหลอน” ภาพที่เด็กเห็นคือภาพอะไร

ในระยะยาว การเสพที่ส่งผลต่อสติปัญญา ความสามารถเรียนรู้-ยับยั้งชั่งใจ ขาดแรงจูงใจในชีวิต ขาดความกระตือรือร้น ความอยากอาหารลดลง อาจก่อให้เกิด “โรคจิตเภท” อันเป็นโรคจิตที่เรื้อรังได้

“ผลกระทบระยะยาวนี้ เมื่อเกิดขึ้นแม้ว่าจะหยุดเสพแต่ปัญหาจะยังคงอยู่ กรณีพิเศษที่ต้องเน้นย้ำคือแม้เด็กไม่ได้สูบแต่บุคคลรอบข้างใช้ เด็กก็จะได้รับสาร THC ที่ฟุ้งกระจายออกมาได้ด้วย คล้ายลักษณะคำว่า Secondhand Smoke หรือ ควันบุหรี่มือสอง”

เด็กชาย ม.ต้น-ม.ปลาย เข้าระบบบำบัดเยอะสุด ประถมก็มี  

สำหรับแนวทางประเมินและการรักษาในวัยนี้ หากเข้ารับการบำบัดในระยะแรกจะเป็นการล้างพิษ ลักษณะให้เด็กพ้นจากสภาวะเมากัญชา เพื่อให้กัญชาในร่างกายหมดฤทธิ์ก่อน ระยะถัดไปคือดูว่ามีอาการ “ถอนยา” หรือไม่ มีความอยากยาหรือไม่ (ระยะนี้อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้กัญชาที่ผ่านมา)

และระยะสุดท้ายคือทำอย่างไรไม่กลับไปใช้อีก ส่วนการรักษาโดยทั่วไปจะดูแลตามอาการ เช่น ในระยะที่เด็กกำลังเมากัญชา มีความเคลิบเคลิ้ม ต้องให้อยู่ในสถานที่สงบเพื่อลดสิ่งเร้าสิ่งกระตุ้น ส่วนการใช้ยาจะใช้ในกรณีที่เด็กมีอาการประสาทหลอน หรือมีพฤติกรรมกระสับกระส่าย

ขณะที่ระยะถอนยา หากเด็กมีความอยาก ต้องพิจารณาเป็นรายไป เพราะบางรายทนได้ก็จะไม่จ่ายยา อย่างไรก็ตาม  ในจำนวนที่เข้ารับการบำบัดรักษา ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย มีตั้งแต่ระดับ ม.ต้น-ม.ปลาย และบางส่วนเป็นเด็กประถม ปัจจัยการทดลองมาจากสังคมเพื่อน และหากมีคนที่บ้านใช้ก็ใช้ตาม

พร้อมวิเคราะห์การใช้กัญชาในวัยนี้จะเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลลบมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงปิดเทอมที่เด็กไม่ได้อยู่ในสายตาครูและครอบครัว แต่อยู่ในสังคมของพวกเขาเอง กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการต้องเตรียมพร้อม รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องติดตาม สอดส่องปัญหา ครอบครัวใดที่มีสมาชิกใช้กัญชาแล้วใช้ความรุนแรงในบ้าน พม. ต้องเร่งบทบาทช่วยเหลือ

A high angle shot of a female rolling a joint

“ตนไม่อยากให้หน่วยงานภาครัฐประเมินผลพวงสถานการณ์อันตรายจากกัญชาต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะปัจจุบันแม้ยังไม่ข้ามไปปีหน้า เราก็มีจำนวนเคสทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากปลดล็อกจำนวนมาก ต้องยอมรับว่าจำนวนที่เพิ่มขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่งานตึงมือ กำลังของบุคลากรก็ไม่เพียงพอสำหรับช่วยเหลือเคสอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่กัญชา”

คาดการณ์ 6 ปัญหา ห้วงสุญญากาศ

ทั้งนี้ ระบุ 6 แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นช่วงสุญญากาศกัญชา ได้แก่ 

1.จำนวนผู้ใช้กัญชาทั้งเด็กและผู้ใหญ่พุ่งสูง 2.ปัญหายาเสพติดเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่ปัญหากัญชา เนื่องจากกัญชาอาจนำไปสู่การทดลองสารเสพติดอื่น ๆ 3.ปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคมเรื้อรัง 4.ปัญหาสุขภาพจิตล้นระบบ 5.ปัญหาเศรษฐกิจหยุดชะงัก 6.ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา

พร้อมเสนอว่าหากเป็นไปได้ควรนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดเพื่อให้ควบคุมได้ การกลับไปเป็นยาเสพติดจะไม่มีผลต่อการใช้ทางการแพทย์ เพราะทุกวันนี้สามารถใช้สารเสพติดในทางการแพทย์ได้โดยไม่ต้องปลดล็อก ยกตัวอย่าง มอร์ฟีน แต่การปลดล็อกกัญชาที่ผ่านมาเห็นชัดว่าควบคุมยาก

ท้ายนี้ ได้แต่หวังว่าสถานการณ์ระหว่างทางนี้จะไม่สูญเสียเด็กและเยาวชนให้กับการปลดล็อกที่คล้ายกับคลำทางไปเรื่อย ๆ โดยไร้เชือกจับ.