เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา หัวหน้าโครงการวิจัย สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง นายกรัฐมนตรีที่ใช่ พรรคการเมืองที่ชอบ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 3,740 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-28 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95

เมื่อถามถึง ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชน พบว่า ร้อยละ 36.0 ดูที่ตัวผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง ลงพื้นที่ตลอดช่วยเหลือชาวบ้านตลอด ร้อยละ 28.1 ดูที่กระสุน เงิน ทรัพย์ ร้อยละ 26.1 ดูที่นโยบายพรรค และร้อยละ 18.9 ดูที่ กระแส ความนิยมต่อพรรค ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ บุคคลที่ใช่เลย นายกรัฐมนตรีคนต่อไป จำแนกตามภูมิภาค พบว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ยังคงยึดครองสูงสุดที่ภาคเหนือ ร้อยละ 43.6 รองลงมาคือ ภาคอีสาน ร้อยละ 25.7 ภาคใต้ ร้อยละ 17.2 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 12.9 และภาคกลางน้อยสุดคือ ร้อยละ 8.6 ในขณะที่ นายอนุทิน  ชาญวีรกูล มีฐานสนับสนุนมาแรงในทุกภาค มากที่สุดในภาคกลาง ร้อยละ 44.6 และภาคเหนือ ร้อยละ 38.5 ภาคอีสาน ได้ร้อยละ 24.8 กรุงเทพมหานคร ได้ร้อยละ 25.8 และภาคใต้ ได้ร้อยละ 21.5 ตามลำดับ

ผศ.ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณาคือ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ได้มากสุดในกรุงเทพมหานครได้ร้อยละ 32.3 แต่ภาคอื่น ๆ ไม่โดดเด่น คือ ภาคกลาง ได้ร้อยละ 15.1 ภาคอีสาน ได้ร้อยละ 11.7 ภาคเหนือ ได้ร้อยละ 9.0 และภาคใต้ ได้ร้อยละ 8.6 ในขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้มากสุดคือ ภาคใต้ ร้อยละ 34.4 รองลงมาคือ ภาคกลาง ร้อยละ 17.3 อีสาน ได้ร้อยละ 8.9 กรุงเทพมหานครได้ร้อยละ 6.5 และภาคเหนือ ได้ร้อยละ 2.6

นอกจากนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ภาคใต้ ร้อยละ 9.7 ภาคอีสาน ร้อยละ 8.9 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 6.5 ภาคกลาง ร้อยละ 5.0 และภาคเหนือ ร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ที่เหลือเป็นอื่น ๆ และยังไม่ตัดสินใจ เฉลี่ยอยู่ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง จำแนกตามภูมิภาค พบว่า พรรคเพื่อไทย ยังครองสูงสุดที่ภาคอีสานคือร้อยละ 54.2 รองลงมาคือ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 32.1 ภาคเหนือร้อยละ 25.4 ภาคกลางร้อยละ 15.2 และภาคใต้ ร้อยละ 14.8 ตามลำดับ ในขณะที่ พรรคภูมิใจไทยได้คะแนนสูงสุดในภาคอื่น ๆ หลายภาค เช่น ภาคกลางร้อยละ 28.8 ภาคเหนือร้อยละ 26.5 ภาคใต้ร้อยละ 26.0 กรุงเทพมหานครร้อยละ 20.9 และภาคอีสานร้อยละ 14.0 ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ พรรคประชาธิปัตย์ ได้มากสุดคือร้อยละ 33.7 ในขณะที่ภาคอื่น ๆ มีสัดส่วนไม่มากนักคือ กรุงเทพมหานครร้อยละ 16.7 ภาคเหนือร้อยละ 14.9 ภาคกลาง ร้อยละ 6.1 และภาคอีสาน ร้อยละ 7.5 ตามลำดับ ส่วนของพรรคพลังประชารัฐที่อยู่ในช่วงเปราะบาง คือ ภาคกลางได้ร้อยละ 23.5 ภาคใต้ ร้อยละ 9.5 ภาคเหนือร้อยละ 8.8 ภาคอีสาน ร้อยละ 8.4 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 8.3 ตามลำดับ

ในส่วนของพรรคก้าวไกล มีฐานในกรุงเทพมหานครร้อยละ 8.6 ภาคกลางร้อยละ 6.1 ภาคเหนือร้อยละ 5.0 อีสานร้อยละ 3.7 และภาคใต้ร้อยละ 0.6 ตามลำดับ ขณะที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ มีสัดส่วนแผ่วเบาหวิว ได้ในภาคกลางร้อยละ 4.5 ภาคใต้ร้อยละ 4.1 ภาคเหนือร้อยละ 3.3 กรุงเทพมหานครร้อยละ 1.2 และภาคอีสานร้อยละ 0.9 ตามลำดับ

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา

ผศ.ดร.นพดล เปิดเผยด้วยว่า “จตุพร เอฟเฟกต์”  ผลกระทบทางการเมืองจากนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง โจมตีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มีผลกระทบร้อยละ 67.7 ในขณะที่ไม่มีผลร้อยละ 32.3 จึงอาจเป็นไปได้ว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนนิยมทั้งตัวบุคคลผู้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองในแต่ละภูมิภาค เช่น ภาพลักษณ์ส่วนตัว ความเชื่อมโยงกับบุคคลอ้างอิงเครือญาติ พรรคพวกที่ส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชน ผู้สมัครของพรรคในเขตเลือกตั้ง นโยบายพรรค กระแสและกระสุน ย่อมมีผลผสมผสานมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชน จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ทั้งสิ้น

หัวหน้าโครงการวิจัย ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค กับ ฐานนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมืองในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน เช่น คะแนนนิยมของประชาชนต่อพรรครวมไทยสร้างชาติ แผ่วเบามากในแต่ละภาค แต่คะแนนนิยมของประชาชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีมากสุดในกรุงเทพมหานครประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ในขณะที่คะแนนนิยมของประชาชนต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่ได้รับมากในหลายภูมิภาคและสูงสุดในภาคกลาง และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ได้รับมากสุดในภาคเหนือ ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้มากสุดในภาคใต้ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามในภาคใต้ ที่น่าพิจารณาคือ จตุพร เอฟเฟกต์ ที่มีผลค่อนข้างมากในทางการเมืองในห้วงเวลานี้.