สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ว่า การศึกษาดังกล่าว ซึ่งนำโดยนายไมเคิล ไอเซนเบิร์ก แพทยศาสตรบันฑิต และศาสตราจารย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะจาก “สแตนฟอร์ด เมดิซีน” ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะเจริญพันธุ์และสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย เป็นการวิเคราะห์อภิมานที่รวบรวมข้อมูลจากงานศึกษามากกว่า 75 ชิ้น ซึ่งรวบรวมการวัดขนาดองคชาตที่แข็งตัวของผู้ชายกว่า 55,000 คนทั่วโลก ระหว่างปี 2485-2564

“การค้นพบนี้น่าประหลาดใจมาก เพราะความยาวของอวัยวะเพศชายที่แข็งตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเวลาผ่านไป ในหลายภูมิภาคของโลก และในทุกกลุ่มอายุ ขณะที่การวัดขนาดองคชาตแบบอื่น ๆ ไม่พบแนวโน้มใด ๆ” งานศึกษาระบุ

แม้ความยาวขององตชาตจะแสดงถึงความแตกต่างตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ แต่เมื่อมีการควบคุมข้อมูลด้านภูมิภาค, อายุ และประชากร มันจึงสามารถสรุปได้ว่า ความยาวขององคชาตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 24% ในช่วง 29 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ไอเซนเบิร์กกล่าวในบล็อก “สโคป” ของสแตนฟอร์ด เมดิซีน ว่า เขาเชื่อว่าสิ่งนี้เป็น “ระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น” สำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเช่นนี้ที่จะเกิดขึ้น

“การเปลี่ยนแปลงโดยรวมใด ๆ ในการพัฒนาเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะระบบสืบพันธุ์ของเราคือหนึ่งในส่วนที่สำคัญที่สุดของชีววิทยามนุษย์ หากเราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นนี้ นั่นหมายความว่ามีบางสิ่งที่ส่งผลอย่างมากเกิดขึ้นกับร่างกายของพวกเรา” ไอเซนเบิร์ก กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ไอเซนเบิร์กยังระบุในบทความว่า การสัมผัสสารเคมีอาจมีปฏิกิริยากับการสร้างฮอร์โมน และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพแบบนี้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสาเหตุที่แท้จริงต่อไป.

เครดิตภาพ : AFP