เมื่อวันที่ 25 ก.พ. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “เอามั้ย นโยบายพรรคเสรีรวมไทย ออกกฎหมายปฏิรูป กกต.” โดยระบุรายละเอียดว่า 1.เปลี่ยนการกำหนดคุณสมบัติขั้นเทพ ที่มุ่งเอาแต่คนมีตำแหน่งราชการระดับสูงมาเป็น กกต. เพราะคนเหล่านี้ ไม่มีประสบการณ์ ไม่กล้าหาญในการตัดสินใจ ฝักใฝ่การเมืองที่อุปถัมภ์ค้ำชูให้ตนเองก้าวหน้าในราชการ 2.เลิกกติกายุบพรรค ที่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ยุบง่าย ยุบเร็วหากเป็นฝ่ายตรงข้ามผู้มีอำนาจ ยุบช้า ตีตก หากเป็นฝ่ายเดียวกัน 3. ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการเลือกตั้งทุกระดับ กกต. ทุกระดับต้องมีตัวแทนภาคประชาสังคมอย่างน้อย 1 ใน 3 ทุกหน่วยเลือกตั้ง ต้องมีตัวแทนภาคประชาสังคม เป็นผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง 4. จัดการเลือกตั้งแบบโปร่งใส มีระบบการรายงานผลแบบไม่เป็นทางการแบบเรียลไทม์ผ่านโทรศัพท์มือถือ เห็นการเคลื่อนไหวคะแนนตลอดเวลาพร้อมกันทั้ง ประชาชน สื่อมวลชนและ กกต. และ 5. ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตสำหรับการเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศ ลดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของทุกฝ่าย และแก้ปัญหาส่งบัตรกลับไทยไม่ทัน

นายสมชัย ระบุอีกว่า วิธีการดำเนินงาน 1. แก้รัฐธรรมนูญ โดยให้มี ส.ส.ร. 2.แก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ส.ส. พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ร.ป.กกต. 3. ระยะเวลาดำเนินงาน ให้เสร็จภายใน 1 ปี หลังเลือกตั้ง

สำนักงาน กกต. เปลี่ยนม้ากลางศึก เรื่องเล็กๆ ในสำนักงาน กกต. ที่สังคมไม่รู้ คือ ในช่วงที่ใกล้เลือกตั้งเช่นนี้ กลับมีการสับเปลี่ยนตำแหน่งผู้บริหารระดับแม่ทัพน้อย เช่น ผอ.กกต.จังหวัด เป็นระลอกใหญ่ โดย ผอ.กกต.กทม. ที่ยังมีโจทย์วุ่นกับการแบ่งเขต 8 แบบ ถูกเลื่อนระดับเป็น ผอ.สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่ารองเลขาธิการ ผอ.กกต. หลายจังหวัดถูกสับเปลี่ยน หรือโยกมาดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ปวดหัวน้อยลงในส่วนกลาง ในขณะที่โจทย์การแบ่งเขตยังอาจต้องรื้อใหม่โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

การหา ผอ.เขตเลือกตั้งยังได้คนไม่ครบ 400 เขต เพราะได้ค่าแรงไม่คุ้มค่าเสี่ยง ที่ กกต. โยนงานการรวมคะแนนแบบไม่เป็นทางการมาเพิ่มที่เขต หากมีการโกงกันหรือคะแนนแตกต่างกับคะแนนที่เป็นทางการ หรือแตกต่างจากคะแนนที่ภาคประชาชนเก็บข้อมูล ก็มีสิทธิย้ายที่นอน การเปลี่ยนม้ากลางศึก แม้จะเป็นการเลื่อนให้สูงขึ้น เป็นที่น่ายินดีกับคนได้รับเลื่อน แต่มีคำถามว่า มันเหมาะสมหรือไม่ หรืออยากให้การเลือกตั้งอยู่ในมือของผู้บริหารมือใหม่ ให้มันวุ่นวายเล่น.