นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพากร อยู่ะหว่างศึกษาการปรับเพิ่มอัตราเงินได้ของผู้ประกอบการที่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่า (แวต) ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้มีรายได้ที่ 1.8 ล้านบาท เนื่องจากวงเงินในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ประกอบกับอัตราดังกล่าวใช้มาตั้งแต่ปี 2535 ดังนั้น น่าจะถึงเวลาทบทวนเพื่อให้เป็นอัตราเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ 

“ขณะนี้แนวทางการศึกษาทบทวนอัตราผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีอยู่สองแนวคิด แนวคิดแรกต้องการให้ขยายวงเงินมากขึ้นเพื่อดูแลผู้ประกอบการ กับอีกฝ่ายไม่ให้เพิ่มดังนั้นสรรพากรจะมีการพิจารณาข้อมูล ข้อดีข้อเสีย จากทั้งสองฝั่งอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจที่จะดำเนินการออกไป”

นายลวรณ กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบการค้าขายเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมากเช่นกัน หากสามารถปรับอัตราการจดทะเบียน แวตออกไป อาจจะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการรายค้าย่อย ๆ จะได้ทำมาค้าขาย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนจะขยายวงเงินเป็นเท่าใดนั้น ยังไม่มีข้อสรุป เพราะต้องรอผลศึกษาก่อนว่าอัตราใดจะเหมาะสม ซึ่งก็มีข้อเสนออาจเป็น 2 ล้านบาท หรือ 2.5 ล้านบาท หรือสุดท้ายอัตราเดิมก็เป็นได้ 

นายลวรณ กล่าวต่อว่า กรมสรรพากร มีนโยบายที่จะทำอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล และจะทำให้การเสียภาษีเป็นเรื่องง่าย ไม่ซับซ้อน และจูงใจให้ทุกคนเข้าสู่ระบบการเสียภาษีมากยิ่งขึ้น โดยภาษีบุคคลธรรมดา เมื่อปี 64 มีผู้ยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ 10.30 ล้านคน มีภาระภาษีที่ต้องจ่ายเพียง 4.17 ล้านคน ขณะที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีแวตมีหลายแสนราย โดยรายได้หลักของกรมสรรพากร มาจากภาษีแวตคิดเป็น 70% ของรายได้ ซึ่งแต่ละปีกรมสรรพากรจะมีรายได้ราว 2.1-2.2 ล้านล้านบาท