ประเทศไทย ได้เข้าสู่ “ฤดูร้อน” ของปี 66 อย่างเป็นทางการไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเป็นทางการไปแล้ว!!

โดยการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้ จะเริ่มต้นในวันที่ 5 มี.ค. จากนั้นจะสิ้นสุดฤดูร้อนในช่วงกลางเดือน พ.ค. 66 โดยปีนี้นั้น คาดว่าจะมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.5 °ซ. (องศาเซลเซียส) ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว โดยจังหวัดที่คาดว่าอุณหภูมิจะสูงที่สุด 40-43 °ซ. ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย ตาก ลำปาง และแม่ฮ่องสอน สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิสูงสุด 38-39 °ซ.

อย่างไรก็ตามในรอบ 72 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2494-2565 ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา มีการเก็บข้อมูลสถิตินั้น เรามาดูกันว่าประเทศไทย มีอุณภูมิสูงสุด หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ร้อนจนตับแตก” ในปีไหนกัน?? และที่จังหวัดไหน? วันนี้ “เดลินิวส์” รวบรวมมาให้อ่านแล้ว!!

ภาพ pixabay.com

เริ่มกันในพื้นที่

ภาคเหนือ อุณหภูมิที่เคยสูงสุด คือ ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 วัดได้ 44.6 °ซ.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) อุณหภูมิที่เคยสูงสุด คือ ที่ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2503 หรือเกือบ 63 ปีมาแล้ว วัดได้ 43.9 °ซ.

ภาคกลาง (รวม กทม.และปริมณฑล) อุณหภูมิที่เคยสูงสุด คือ ที่ จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 วัดได้ 43.7 °ซ.

ภาคตะวันออก อุณหภูมิที่เคยสูงสุด คือ ที่ กบินทร์บุรี  จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 23 เมษายน  2533 วัดได้ 42.9 °ซ.

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก อุณหภูมิที่เคยสูงสุด คือ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน  2559 วัดได้ 42 °ซ.

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก อุณหภูมิที่เคยสูงสุด คือ ที่ ท่าอากาศยานตรัง จ.ตรัง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2535  วัดได้ 40.5 °ซ.

ภาพ pixabay.com

สรุปแล้ว เมืองไทยเคยร้อนที่สุดที่มีการเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ คือ ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 28 เมษายน ปี 59 หรือเกือบ 7 ปีที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งอุณหภูมิที่วัดได้คือ 44.6 °ซ. ต้องรอติดตามกันต่อไปว่า ตัวเลขสถิตินี้จะถูกทำลายหรือไม่??

เมื่อโลกกำลังประสบปัญหา “ภาวะโลกร้อน” ส่งผลให้อุณหภูมิมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง!!