เมื่อวันที่ 3 มี.ค. จากกรณีเพจเฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย ประกาศรับสมัครชาวต่างชาติช่วยกองทัพยูเครนต่อสู้กับการบุกรุกของรัสเซีย ขณะเดียวกันได้มีผู้ใช้สื่อโซเชียลบางรายเผยแพร่ข้อมูลที่อ้างว่าผู้ที่ไปร่วมเป็นทหารอาสาของยูเครน จะได้สิทธิเป็นพลเมืองในสหภาพยุโรป (อียู) จะได้รับเงินเดือนหลักแสนบาท จะได้รับเงินชดเชยนับสิบล้านบาทหากเสียชีวิต ซึ่งทำให้เกิดกระแสการชักชวนคนไทยให้ไปสมัครเป็นทหารอาสาช่วยยูเครน และมีคนไทยบางส่วนเดินทางยื่นเรื่องเองถึงที่สถานเอกอัครราชทูตยูเครนฯ ด้วยนั้น

รายงานข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเท่าที่ทางกระทรวงฯ ได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นว่ากรณีที่รัฐบาลยูเครนรับสมัครชาวต่างชาติไปร่วมการปกป้องประเทศเขาครั้งนี้ ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาสมัครไว้ว่าต้องเป็นผู้ที่มีเอกสารการเดินทางพร้อมอยู่แล้ว ต้องเป็นผู้ที่มีประวัติและประสบการณ์ผ่านการเป็นทหารมาก่อน เพราะเขาจะไม่มีการเอาฝึกใดๆ ก่อน รวมถึงบุคคลนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเดินทางไปยูเครนเองทั้งหมด ส่วนที่ไปบอกต่อๆ กันว่าเขาจะให้สัญชาติ ให้เงินเดือนหรือค่าตอบแทน หรือถ้าเสียชีวิตจะจ่ายเงินชดเชยให้นั้น ก็ไม่เป็นความจริง เป็นแค่ข่าวโคมลอย เขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเป็นค่าจ้าง เพราะรัฐบาลยูเครนกำลังขอรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ และเขาย่อมต้องนำงบประมาณที่มีอยู่ไปดูแลคนของเขาและซ่อมแซมบ้านเมืองของเขาที่ได้รับความเสียหายเกิดจากการสู้รบ จึงอย่าไปสร้างกระแสอะไรที่ทำให้คนหลงเชื่อข้อมูลที่ว่าไปร่วมเป็นทหารอาสากับเขาแล้วจะได้รับประโยชน์ต่างๆ นานา

ที่สำคัญ การไปเป็นทหารอาสาเช่นนั้นเป็นลักษณะของทหารรับจ้าง ซึ่งผู้ที่ทหารรับจ้างต้องเอาตัวรอดเอง ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนมาดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว เพราะถ้าถูกจับกุม ถือเป็นอาชญากร ไม่ใช่เชลยศึก ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญา แม้ในหลายประเทศมีคนบางส่วนที่ทำอาชีพทหารรับจ้าง เขาทำแบบลับๆ ขณะนี้กระทรวงฯ กำลังดูข้อกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ว่าเรื่องเช่นนี้จะส่งผลกระทบอะไรต่อประเทศเราหรือไม่อย่างไร เพราะไม่ใช่เรื่องที่ควรสนับสนุนให้คนประเทศเราไปเกี่ยวกับการสู้รบในประเทศอื่นๆ แม้จะมีคนไปยื่นเรื่องขออาสาด้วยความสมัครใจก็ตาม เรื่องดังกล่าวอาจจะนำพาให้ประเทศเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งหรือปัญหาต่างๆ ตามมาได้