เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ ออกมาเคลมผลงานหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการเพิ่มค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เป็นเดือนละ 2,000 บาทต่อคน ว่าเรื่องนี้ถือเป็นผลงานร่วมกันของ ครม. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 พรรคการเมืองที่เป็นข่าวในขณะนี้ ทั้ง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ สำหรับรัฐมนตรีที่ดูแลกรมส่งเสริมสุขภาพและดูแล อสม. คือ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข จากพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นต้นเรื่องการให้เพิ่มค่าตอบแทนแก่ อสม. ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ต้องเป็นผู้ให้ความเห็นชอบเรื่องก่อน จึงจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และถือว่าเป็นผลงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อนุมัติให้เข้าสู่ที่ประชุม ตนจึงขอย้ำว่าไม่ใช่ผลงานใครคนใดคนหนึ่ง

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เริ่มต้นให้ค่าตอบแทน อสม. มาตั้งแต่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และตนเป็น รมว.สาธารณสุข เพราะเห็นว่า อสม. เป็นผู้ที่ทำงานหนักและเสียสละมาเนิ่นนาน ตอนนั้นเราเริ่มต้นให้คนละ 600 บาท ในรัฐบาลชุดถัดๆ มา ปรับเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ อีกทั้ง อสม. มีภารกิจเพิ่มขึ้น ดังนั้นการปรับเพิ่มเป็น 2,000 บาท ในช่วงเวลานี้จึงเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่พรรคการเมืองพูดเรื่องนี้ เป็นการใช้ประโยชน์ในช่วงเลือกตั้งหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนขอไม่วิจารณ์ และเป็นเรื่องธรรมดาในช่วงหาเสียงในการเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนต้องเอาผลงานไปบอกให้ประชาชนทราบ พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องไปบอกว่าเราเป็นคนเริ่มต้นเรื่องเบี้ยยังชีพ อสม. แม้จะเป็นผลงานร่วมกัน ซึ่งเราบอกไปตามข้อเท็จจริง ส่วนประชาชนจะเลือกใครไม่เลือกใครนั้น อยู่ที่ดุลพินิจของประชาชน แต่อย่างน้อยเราก็พูดได้เต็มปากว่า ประชาธิปัตย์เป็นอีกพรรคหนึ่ง หรือเป็นหนึ่งในจำนวนพรรคการเมืองที่ได้สนับสนุนให้มีการเพิ่มค่าตอบแทน อสม. เป็น 2,000 บาท

เมื่อถามว่าการเพิ่มค่าตอบแทนดังกล่าว จะส่งผลต่อระบบงบประมาณปี 67 และถูกมองว่าจะเป็นภาระผูกพันหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อมีการเพิ่มค่าตอบแทนไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ก็ต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้น จึงต้องเป็นไปตามสถานภาพทางการคลังของประเทศต่อไป แต่เรื่องนี้ถ้าจะเริ่ม ก็ต้องเป็นของงบประมาณปี 67 ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ต.ค. 66 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และข้อเท็จจริงต่อไป อย่างน้อย ครม. ชุดนี้ก็ได้อนุมัติเป็นหลักการไว้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 มี.ค. 66 มีการเห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) จาก 1,000 บาทต่อคน เป็น 2,000 บาทต่อคน โดยตั้งคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพี่น้อง อสม. และ อสส. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญ ในการเอาชนะสงครามโควิดของประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่ได้ทำงานอย่างเสียสละทุ่มเท มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ 

อีกทั้งมีภาระงานด้านสุขภาพมากขึ้นในการดูแลประชาชนในชุมชน/ท้องถิ่นของตน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยติดเตียง-ผู้สูงวัย-ผู้พิการ เป็นต้น ซึ่งผมถือว่าเราควรส่งเสริมบทบาท อสม./อสส.ในการให้ความรู้เรื่องการรักษาสุขภาพ สุขอนามัย และเวชศาสตร์ป้องกัน เพื่อลดการป่วยไข้ของประชาชนโดยไม่จำเป็น เน้นการดูแลตัวเองเป็นพื้นฐานก่อนที่จะถึงมือหมอ โดยวันข้างหน้าจะมีระบบสวัสดิการ เพื่อตอบแทนการทำงานของ อสม./อสส.เพิ่มขึ้น เช่น การเข้าสู่ระบบประกันสังคม ในลักษณะแรงงานนอกระบบ เป็นต้น   

“นอกจากนี้ ผมยังได้ติดตามเร่งรัดการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย (National Health Information Platform) เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อประโยชน์ทางการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการรับ-ส่งต่อ และการรายรายงานด้านสาธารณสุข เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยให้กับทุกชีวิต ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกคน เข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ครอบคลุมการให้บริการผ่านโรงพยาบาลทุกระดับกว่า 15,000 แห่ง รองรับการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) โดยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวต่างๆ จะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องสุขภาพและปากท้องในเวลาเดียวกัน” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ