เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 10 มี.ค. ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่ทั่วประเทศ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพดีมากถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 พบค่าฝุ่นระหว่าง 15-146 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) เกินค่ามาตรฐานใน 39 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี กทม. นนทบุรี เชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา หนองคาย เลย นครพนม หนองบัวลำภู ขอนแก่น นครราชสีมา และ บุรีรัมย์

กทม.และปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ​ ​กทม. เกินค่ามาตรฐาน 43 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 35-87 มคก./ลบ.ม. ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 76-146 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐานระดับสีแดงอันตราย 20 พื้นที่ สูงสุดในประเทศที่ ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย 146 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 7 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 33-106 มคก./ลบ.ม. ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 37-97 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 3 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 32-76 มคก./ลบ.ม. ส่วนภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 15-26 มคก./ลบ.ม.

กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 11-17 มี.ค. ดังนี้ วันที่ 11 มี.ค. พื้นที่ กทม.และปริมณฑล อาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ โดยหลังวันที่ 11 มี.ค. เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ช่วงระหว่างวันที่ 14-15 มี.ค. เป็นช่วงที่ควรเฝ้าระวังของพื้นที่เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่ได้ ส่วนพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างระหว่างวันที่ 10-14 มี.ค. ช่วงระหว่างวันที่ 12-13 มี.ค. มีโอกาสพบเจอฝนตกในบางพื้นที่ ของภาคเหนือตอนบน

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ และสามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK.