เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 13 ก.ย.66 ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า นายนาชิดะ คาซูยะ (H.E. Mr. Nashida Kazuya) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่ได้พบปะกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ พร้อมแสดงความขอบคุณไปยังนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่มีสารแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งด้วย หวังว่าจะได้มีโอกาสพบปะกันระหว่างการประชุม UNGA78 ที่สหรัฐฯในสัปดาห์หน้า โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีชื่นชมความสัมพันธ์ทวิภาคีไทยและญี่ปุ่นที่มีมาอย่างใกล้ชิดมายาวนาน และทั้งสองประเทศต่างมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับราชวงศ์ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการจัดงานพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติครบ 6 รอบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2567

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความร่วมมือกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในทุกมิติอย่างเต็มที่ พร้อมหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะมีการหารือกันระหว่างผู้นำระดับสูงมากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีวางแผนเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก เพื่อจะได้หารือกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นถึงความร่วมมือในทุกมิติ

ทางด้าน เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้เป็นโอกาสอันดีในการหารือถึงแนวทางความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น โดยที่ผ่านมาทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดและร่วมมือในทุกมิติและทุกระดับ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นพร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (Comprehensive Strategic Partnership: CSP) ที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมประกาศเมื่อปี 2565 ในโอกาสครบรอบ 135 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน และพร้อมสานต่อความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมสีเขียว การเกษตร การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ สนามบิน รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันหารือเพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความสำคัญของนักลงทุนญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่สำคัญของไทยมานาน ญี่ปุ่นจึงถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยรัฐบาลมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ยินดีส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้เกิดการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น พร้อมเชิญชวนญี่ปุ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ และลงทุนในสาขาที่ญี่ปุ่นเชี่ยวชาญ

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ ยังกล่าวด้วยว่า การลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยคิดเป็นกว่าร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด จึงมุ่งหวังให้มีการกระชับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ผ่านการพบปะหารือหรือสัมมนาระหว่างผู้นำของไทยกับภาคเอกชนญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในปี 2566 ยังครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ จึงขอเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม ASEAN-Japan Commemorative Summit ณ กรุงโตเกียว ในปลายปีนี้ด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีพิจารณาเข้าร่วมการประชุมฯ

นอกจากนี้ เมื่อเวลา 15.30 น. วันเดียวกัน ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายดูอาร์เต ปาเชโก (Hon. Mr. Duarte Pacheco) ประธานสหภาพรัฐสภา (President of the Inter-Parliament Union: IPU) เข้าเยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐสภา ภายหลังเสร็จสิ้นนายชัยเปิดเผยสาระสำคัญจากการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับประธานสหภาพรัฐสภา ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะแขกของรัฐสภา พร้อมขอบคุณสหภาพรัฐสภาที่ให้การสนับสนุนกิจการของรัฐสภาไทยมาตลอดช่วงการดำรงตำแหน่ง โดยปัจจุบันภูมิทัศน์ทางการเมือง (political landscape) เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ถือเป็นความท้าทาย และข้อห่วงกังวล ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหวังที่จะกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยไทยพร้อมที่จะมีบทบาทและส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันเผชิญความท้าทาย และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ส่วนประธานสหภาพรัฐสภาแสดงความยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่าแม้ในการทำงานอาจจะพบกับความท้าทาย แต่ด้วยประสบการณ์นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะประสบความสำเร็จได้อย่างดี สหภาพรัฐสภาถือเป็นองค์การความร่วมมือระหว่างรัฐสภานานาประเทศที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ โดยตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2431 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการติดต่อ ประสานงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พิจารณาประเด็นปัญหาในระดับนานาชาติ และหาข้อมติในประเด็นดังกล่าวโดย ไทยถือเป็นสมาชิกที่มีบทบาท และมีส่วนร่วมอย่างมาก (active member)

โอกาสนี้ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรีและกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา สมาชิกรัฐสภาเม็กซิโก ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทสตรีและคนรุ่นใหม่ในรัฐสภา โดยไทยถือเป็นประเทศที่สตรีมีบทบาททำงานทางการเมืองมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นตัวอย่างของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีได้เป็นอย่างดี