เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ เขตรักษาพันธุ์สลักพระ จ.กาญจนบุรี นายเสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ในฐานะหัวหน้าโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ เปิดเผยว่า ประชากรวัวแดงได้หายไปจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มานานกว่า 30 ปี เนื่องจากการถูกล่าจากมนุษย์ โดยในอดีตมีทั้งนายพรานทั้งในและนอกพื้นที่ เข้ามาล่าสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้ กทม.

ทั้งนี้ ได้มีการเพาะพันธุ์ลูกวัวแดง จากแม่พันธุ์ที่เป็นลูกวัวแดงกำพร้า พบในเขตรักษาพันธุ์ป่าสลักพระ และพ่อพันธุ์จากป่าในเขตจ.กำแพงเพชร และเพชรบุรี ซึ่งเป็นสายพันธุ์ไทยแท้ และเริ่มโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติตั้งแต่ปี 2557-2565 มีการปล่อยวัวแดงคืนสู่ป่าแล้ว 5 ครั้ง รวม 16 ตัว ทั้งนี้จากการติดตามพบว่ามีประชากรวัวแดงเกิดใหม่ในป่าสลักพระ เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 27 ตัว หากรวมกับที่ปล่อยไปเบื้องต้น จึงมีประชากรทั้งหมด 43 ตัว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ คือการเกิดเลือดชิด ซึ่งพยายามสร้างเครือข่ายประชาชนในพื้นที่รอยต่อป่าสลักพระและเขตรักษาพันธุ์ฯ ห้วยขาแข้ง ให้เฝ้าระวัง เพื่อให้วัวแดงในเขตรักษาพันธุ์ สามารถเคลื่อนย้ายข้ามป่าผสมพันธุ์กับวัวแดงในป่าห้วยขาแข้ง เพื่อลดการเกิดภาวะเลือดชิดต่อไป

นายเสรี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้อานิสงส์ที่ตามมาจากการเพิ่มประชากรวัวแดงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ คือการกลับมาของเสือโคร่ง ซึ่งไม่มีรายงานพบมาประมาณ 30 ปี เช่นกัน โดยกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า สามารถบันทึกภาพเสือโคร่งในพื้นที่ป่าสลักพระได้จำนวน 6 ตัว ซึ่งจากการตรวจสอบฐานข้อมูล 3 ตัว มาจากป่าห้วยขาแข้ง ส่วนอีก 3 ตัว ยังไม่ทราบที่มา และไม่เคยมีฐานข้อมูลมาก่อน อาจเป็นไปได้ทั้งเกิดในป่าสลักพระ หรืออพยพมาจากป่าอื่น โดยมีลักษณะเป็นแม่เสือ และลูกอีก 2 ตัว ซึ่งกล้องจับภาพระหว่างเดินตามกันในป่า 3 แม่ลูกได้ เมื่อเดือน ม.ค. 2565 ซึ่ง 1 ในลูกเสือคาดว่าเป็นเสือตัวผู้ที่ออกมาปรากฏตัวบริเวณสันเขื่อนศรีนครินทร์ เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา สันนิษฐานว่า เริ่มห่างจากแม่และมีการขยายอาณาเขตของตัวเอง

นายเสรี กล่าวว่า การพบเสือโคร่งสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าสลักพระ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องสร้างเครือข่ายเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าร่วมกัน โดยเฉพาะการเชื่อมผืนป่าตะวันตกให้ประชากรสัตว์ป่าสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ ซึ่งเราไม่สามารถสร้างทางเชื่อมเหมือนทางเชื่อมสัตว์ป่าถนน 304 ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาทได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องสร้างเครือข่ายประชาชน เพื่อให้เป็นทางเชื่อมมนุษย์ในการร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าร่วมกัน.