เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม. น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวานิช ส.ส.กทม. และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. แถลงข่าวเสนอความเห็นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้งอาจไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

นายวิชาญ กล่าวว่า การแบ่งเขตของ กกต. 4 แบบในกทม.ทั้ง 33 เขต เป็นที่จับจ้อง เนื่องจากเป็นชิ้นเค้กชิ้นหนึ่งที่หลายพรรคการเมืองอยากได้ เพราะเป็นเขตที่ติดต่อกัน และมีความหนาแน่นของคนเมือง พรรค พท. เคยมีการแถลงข่าวและเตือนไปแล้วครั้งหนึ่งว่า การแบ่งเขตรอบแรกมีความผิดเพี้ยนและพรรคเพื่อไทยได้บอกให้คำนึงถึงกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 29 ที่ต้องยึดโยงเรื่องเขตปกครองเป็นหลัก หมายความว่าต้องเอาอำเภอ (เขต) เป็นหลัก หากไม่สามารถแบ่งได้ ค่อยไปแบ่งตามแขวง นอกจากนี้ ยังต้องยึดโยงตามการเดินทาง ให้ความสะดวกกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน วันนี้ยังไม่ทราบว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งจะออกมาเป็นรูปแบบไหน

“สิ่งสำคัญต้องไม่ทำให้ประชาชนสับสน ครั้งที่แล้วเราเตือน กกต.ว่าการแบ่งเขตที่ส่งรูปแบบมา รูปแบบที่ไม่เหมาะสม คือ 6-7 แต่พอภาคประชาชนท้วงไป กกต.ก็เปลี่ยนมามี 4 รูปแบบ 4 รูปแบบที่ว่า 1 และ 2 เป็นแบบที่เราท้วงไป”

นายวิชาญ กล่าวต่อไปว่า หากมองให้ลึก การประกาศต้องผ่านราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้รูปแบบ 1 และ 2 ขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 27 ที่ต้องรวมอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่ง กทม. ก็คือ เขต และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 62 มีการเอาเขตเป็นตัวตั้งมากกว่าเอาแขวงมาเป็นตัวตั้ง แต่รอบนี้ รูปแบบที่ 1 และ 2 กลับกำหนดตำบลหรือแขวงมาเป็นตัวตั้ง ย้ำว่าจัดแบบนี้วุ่นวายไปหมด ข้าราชการเองก็งง จึงมาบอกทางประชาชนและบอกทางพรรคการเมืองให้ช่วยดู

“ได้อะไรได้ความสนุกหรือไม่ กกต.แบ่งเพื่อที่จะให้ 10% แต่ไม่ได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ความวุ่นวายการเสียจำนวนเงิน ประชาสัมพันธ์ เขายังไม่ได้คำนึงถึงเรื่องกฎหมายหากมีใครมายืนร้อง หลังเลือกตั้งประกาศผลไม่ได้ เป็นโมฆะ กกต.รับผิดชอบหรือไม่ ประเทศเรามีนักร้องเยอะมาก กทม. ทะเลาะกันแน่นอน” นายวิชาญ กล่าว

ทางด้าน น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่าในฐานะตัวแทน ส.ส.กทม.ที่หลายพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับการแบ่งเขตที่ กกต. อาจจะเลือกใช้ โดยเห็นว่าหลักของการแบ่งเขต ควรรวมเขตขนาดใหญ่ไว้ด้วยกัน ไม่ใช่การรวมแขวง เพราะจะทำให้ ส.ส.เขต กลายเป็น ส.ส.แขวง ไปอีก จะทำให้เกิดความสับสนทั้งสำหรับ ส.ส.ที่จะต้องดูแลพื้นที่ รวมถึงประชาชนที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หาก กกต.แบ่งแขวงหนึ่งไปรวมกับอีกเขตการปกครองที่ไม่ได้มีพื้นที่เชื่อมต่อกัน และประชาชนเองก็ไม่คุ้นเคย ไม่สะดวกในการเดินทางไปใช้สิทธิ อาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตเลือกตั้งได้ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง เกิดความไม่คุ้นเคยกับประชาชนจากแขวงอื่นที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

“การแบ่งเขตควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่ดูแล้วการแบ่งเขตของ กกต.ดูจะเข้าทางกลุ่มผู้มีอำนาจเป็นหลักหรือไม่ อันนี้ท่านจะกลับหลังทัน คิดถึงประโยชน์ของประชาชนให้มากกว่าจะคิดถึงประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว

ส่วน นายจิรายุ กล่าวว่าพรรค พท. ไม่ได้ตีตนไปก่อนไข้ แต่เป็นการเสนอความเห็นเรื่องการแบ่งเขต เช่น เขตคลองสามวาของตนถูกผลักไปอยู่เขตหนองจอกจำนวน 2 แขวง จึงอาจเกิดกรณีบัตรเสียในเขตปกครองเดียวกัน ทั้งนี้ พรรค พท. พร้อมลงสนาม เพราะเราถูกผูกรัดมัดตึงมาตลอด 15 ปี ให้ไม่ได้รับความสะดวกต่าง ๆ ทั้งเรื่องการแบ่งจังหวัดหรือแบ่งเขตในกรุงเทพฯ

นายจิรายุ กล่าวว่า มีเพียงเขตดอนเมือง ที่เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ไม่ถูกแบ่งแขวง เหมือนอีก 32 เขตเข้าใจได้ว่า แบ่งตามจำนวนประชากร แต่ก็เห็นว่า เขตอื่นก็ไม่มีเหตุผลให้แบ่งแยกแขวงออกไปจนต่างจากเดิมขนาดนี้ หากมีการประกาศรูปแบบการแบ่งเขตออกมาแบบนั้นจริง ขอให้ กกต. เตรียมรับมือประชาสัมพันธ์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ให้พร้อม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

“แต่ย้ำว่า เพื่อไทยพร้อม ไม่ว่าท่านจะมัดมือมัดขา ปิดหูปิดตา เอาโซ่ล่ามไว้ เราก็จะไปยืนในที่สว่างให้กับพี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ เลือกให้ครบทั้ง 33 เขต” นายจิรายุ กล่าว

เมื่อถามว่า วันนี้ กกต.จะประชุมเรื่องรูปแบบ พรรค พท. มีแนวทางอย่างไรต่อไป น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า การแบ่งเขตเป็นอำนาจของ กกต.ที่สามารถทำได้ สิ่งที่พรรคการเมืองหรือภาคประชาชนทำได้คือการส่งความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ หรือแบบการเลือกตั้งที่ประชาชนเห็นชอบและอยากให้เป็น ทั้งนี้ เรายังหวังว่า กกต.จะฟังความคิดเห็นเหล่านี้ หรือหากสุดท้ายแล้ว กกต.ยังไม่เห็นความสำคัญของประชาชน หรือไม่ฟังคำแนะนำของประชาชน เราก็พร้อมที่จะลงรับเลือกตั้งในกฎกติกาที่ กกต.กำหนด

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายพรรคการเมืองมีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว พรรคเพื่อไทยมีการคุยกับพรรคอื่นหรือไม่ น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า เรามีการพูดคุยกันหลาย ๆ พรรคการเมืองที่มีแนวร่วมและแนวความคิดที่สอดคล้องกัน ซึ่งมีการแสดงความเห็นที่คล้ายกันว่าแบบที่ กกต.แบ่งมาเป็นแบบที่พิลึกพิลั่น และสร้างความเสียหาย รวมถึงสร้างความยากลำบากในการทำงานในอนาคตเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ จากการที่ติดตามข่าวสารบางพรรคการเมืองได้ออกมาแถลงข่าวในทำนองที่ขอให้ กกต.ทบทวนในแบบการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน.