ครม. นัดทิ้งทวน รัฐบาลลุงตู่ที่ผ่านมา ถือว่ามีเซอร์ไพร้ส์อยู่หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการลักไก่ขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตดีเซล ลิตรละ 5 บาท ต่ออีก 2 เดือน ไปถึง ก.ค. 66 ทั้งที่มาตรการเดิมยังคงมีอยู่ และจะไปหมดกลางเดือน พ.ค. นู้น ทีมข่าวเศรษฐกิจ เดลินิวส์ เลยรวบรวมสถิติ การบริหารน้ำมันดีเซลในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาล เชิญติดตามกันได้เลย

ที่ผ่านมา ครม. ได้เห็นชอบให้ใช้มาตรการขยายเวลาลดภาษีดีเซลไปแล้ว 7 ครั้ง เป็นเงินภาษีที่เสียไปแล้วกว่า 1.58 แสนล้านบาท 

  • ครั้งที่ 1 วันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค. 65 ลดภาษีลิตร 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 2 วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค. 65 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย. 65 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 4 ช่วงวันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย. 65 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 5 ช่วงวันที่ 21 พ.ย. 65-20 ม.ค. 66 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 6 ช่วงวันที่ 21 ม.ค.-20 พ.ค. 66 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 4 เดือน รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 7 ช่วงวันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค. 66 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท   

หมายเหตุ ทุกการลดภาษีดีเซลทุก 1 บาท จะทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน  

อย่างไรก็ตาม การปรับลดราคาน้ำมันดีเซล ตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เห็นชอบการปรับลดราคาขายปลีกดีเซล ไปเพียง 2 ครั้ง

  • ครั้งที่ 1 ลดลง 50 สตางค์ ดีเซลเหลือเพดานลิตร 34.50 บาท มีผล 15 ก.พ. 66
  • ครั้งที่ 2 ลดลง 50 สตางค์ ดีเซลเหลือเพดานลิตร 34.00 บาท มีผล 22 ก.พ. 66

หมายเหตุ เงินส่วนลดภาษีเซลส่วนใหญ่ ถูกใช้ไปเพื่อดูแลสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง