เศรษฐกิจไทยปี 2566 กำลังเผชิญความท้าทายที่ชัดเจนมากขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของเครื่องยนต์หลักจากการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวไปสู่ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดย “Krungthai COMPASS” ได้คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยคาดว่าจะเติบโตได้ที่ 3.4% แต่การเปลี่ยนผ่านของแต่ละเครื่องยนต์หลัก ได้กระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวมมากกว่าที่เคยประเมินไว้ในเดือน ธ.ค. 2565 และมีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้ เติบโตต่อเนื่องนั้น คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาถึงระดับ 27.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดไว้เพียง 22.5 ล้านคน

ทั้งนี้ ต้องจับตาการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงกลางปี 2566 อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งถือเป็นความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ซึ่งการจัดการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2566 หลังจากนั้น กกต. จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หรือประมาณเดือน ก.ค. และคาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ จะดำเนินการหลังการเปิดประชุมรัฐสภาภายในช่วงเดือน ส.ค. 2566

อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่อาจล่าช้าออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 รัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ในวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท แยกเป็น งบรายจ่ายประจำ 2.49 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุน 7.17 แสนล้านบาท รายจ่ายอื่น (เช่น ชำระคืนเงินกู้) อีก 1.41 แสนล้านบาท แต่จำเป็นที่รัฐบาลใหม่จะต้องนำร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อผ่านการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ได้เคยเกิดปัญหาลักษณะดังกล่าว โดยส่งผลให้การผ่านร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2563 เกิดขึ้นในประมาณไตรมาสที่ 1/2563 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนด

Krungthai COMPASSS ประเมินว่า ปัญหาดังกล่าวกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนเป็นหลัก เนื่องจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง ขณะที่โครงการลงทุนสำคัญใหม่ๆ ตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2567 ต้องล่าช้าออกไป โดยกระบวนการพิจารณาอนุมัติต่อรัฐสภาจะได้รับผลกระทบจากภาวะสุญญากาศที่ขาดรัฐบาลใหม่

รวมทั้งยังต้องใช้เวลากว่าที่ร่างกฎหมายจะผ่านสภา คาดว่าจะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จะไม่สามารถออกได้ทันเงื่อนเวลาเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ในไตรมาสที่ 4/2566 (ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2566 ซึ่งถือเป็นไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2567) ความล่าช้าดังกล่าว จะส่งผลให้ยอดเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงดังกล่าวต่ำกว่าปกติ คิดเป็นวงเงินประมาณ 5.73 หมื่นล้านบาท หรือเท่ากับ 0.3ppt. ของ GDP ซึ่งในภาพรวมถือเป็นปัจจัยลบต่อการลงทุนภาครัฐ