เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ศูนย์ราชการ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงนโยบายหาเสียงแจกเงินในกระเป๋าเงินจิติทัลของพรรคเพื่อไทย ว่าที่จริงนโยบายของหลายพรรคการเมืองไม่เฉพาะพรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่แล้วใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก หลายพรรคใช้งบมากกว่าพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ เช่น พรรคพลังประชารัฐที่มีนโยบายแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามช่วงอายุ 60-80 ปี หากจ่ายครบ 4 ปี จะใช้เงินถึง 2 ล้านล้านบาท มากกว่านโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยถึง 4 เท่าตัว ซึ่งการที่เลขาธิการ กกต. ออกมาระบุว่า การหาเสียงใช้เงินงบประมาณสามารถทำได้ ไม่เข้าข่ายเป็นการสัญญาว่าจะให้ ยิ่งจะทำให้ทุกพรรค เสนอนโยบายโดยเอาตัวเลขมาเกทับกันไปเรื่อยๆ จะยิ่งเป็นการเพิ่มภาระงบมากขึ้น

ทั้งนี้ เลขาธิการ กกต. ไม่มีสิทธิพูดก่อนในเรื่องของการตีความนโยบายดังกล่าวว่าเข้าข่ายเป็นการสัญญาว่าจะให้หรือไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องพิจารณา ส่วนพรรคการเมืองที่มีนโยบายใช้จ่ายเงินงบ และต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 57 ที่กำหนดให้ชี้แจงที่มาของเงิน วงเงินที่จะใช้ วิเคราะห์ความคุ้มค่าและความเสี่ยงของนโยบายนั้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบทลงโทษกรณีไม่รายงาน หรือรายงานไม่ครบนั้น ตนมองว่าไม่รุนแรงเลย ทำให้พรรคการเมืองไม่เกรงกลัว อาจคิดว่าสามารถเขียนให้ครบตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ขณะที่ กกต. มีข้อจำกัดเรื่องการวิเคราะห์ เพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจมหภาค ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่ กกต. จะประสานกระทรวงการคลัง หรือสำนักงบประมาณ ในการวิเคราะห์ว่า นโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองนำเสนอทำได้จริงหรือไม่ รวมทั้งอยากให้ในการนำเสนอนโยบายหาเสียงของทุกพรรคการเมือง ได้คำนึงถึงกฎเกณฑ์การตั้งงบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีและวินัยการเงินการคลัง

เมื่อถามว่า กกต. ควรจะวินิจฉัยเรื่องนี้โดยเร็วหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า กกต. ควรเร่งวินิจฉัยกรณีนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ เพราะหากวินิจฉัยล่าช้า กกต.จะถูกประชาชนมองว่าวางตัวไม่เป็นกลาง เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับ กกต. ชุดที่ 2 แล้ว ที่ศาลตัดสินจำคุกกรณีพรรคใหญ่เอื้อพรรคเล็ก เพราะวินิจฉัยให้พรรคใหญ่สนับสนุนพรรคเล็กส่งผู้สมัคร เพื่อแก้ปัญหาจำนวนการใช้สิทธิของประชาชน

นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีระบบลงทะเบียนล่วงหน้าล่ม เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา ว่าตนไม่ทราบเหตุที่ระบบล่มเป็นเพราะอะไร และไม่ทราบว่า เวลาที่เสียหายไปนั้นนานเท่าไหร่ แต่การจะชดเชยนั้นสามารถทำได้ เหมือนกรณีการเลือกตั้งทั้วไปที่กำหนดเวลาไว้จนถึง 17.00 น. แต่หากบางพื้นที่เกิดเหตุอะไรบางอย่างแล้วทำให้เสียเวลาในการเลือกตั้ง สามารถชดเชยให้กับผู้เลือกตั้งได้ หลังจากเจ้าหน้าที่ กกต. ทำไม่ทัน ก็ให้ลงทะเบียนไว้ก่อน แล้วให้ลงคะแนนเลยเวลา ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กกต. ต้องคิดว่าจะชดเชยกรณีเสียสิทธิจากเรื่องนี้ให้เร็ว หน้าที่ กกต. ต้องทำให้ประชาชนทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้งและปรารถนาจะเลือกตั้ง สามารถเข้าถึงการใช้สิทธิได้อย่างสะดวก

ส่วนการชดเชยควรจะเท่ากับเวลาที่ระบบล่มหรือไม่นั้น ตนมองว่าควรเป็นสัดส่วนเดียวกัน แต่ต้องเผื่อด้วยว่า กรณีที่มีการเปิดใหม่เพิ่มเติมนั้น ระบบจะไม่ล่มอีก จากการจราจรทางอินเทอร์เน็ตที่ติดขัด อาจต้องใช้เวลานานในการลงทะเบียน ดังนั้นส่วนตัวเสนอว่าเปิดอีก 1 วันเต็มๆ น่าจะดีที่สุด น่าจะทำให้มีคนมาลงทะเบียนใช้สิทธิมากขึ้นด้วย น่าจะเป็นผลดี อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทราบว่ากลไกของ กกต. จะเร็วพอหรือไม่ หากประชุมกัน 7 วันครั้งคงยาก แต่หากไหวตัวเร็ว เกิดปัญหาวันที่ 9 เม.ย. วันที่ 10 เม.ย. ก็มีมติแก้ปัญหาก็จะทำให้ชื่นใจประชาชน ขณะนี้ประชาชนวิจารณ์การทำงานของ กกต. หลายเรื่อง ดังนั้น กกต. ต้องทบทวนตัวเอง

เมื่อถามว่า หากไม่มีการขยายเวลาประชาชนสามารถร้องเรียนได้หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า สามารถร้องได้ ว่า กกต. ละเมิดสิทธิประชาชน ไม่ทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก ทำให้ประชาชนเสียสิทธิ ประเด็นนี้อาจจะมีคนร้องได้ แต่ผลของการร้องจะเป็นอย่างไร อาจจะเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่เต็มความสามารถ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องว่ากัน.