เมื่อวันที่ 12 เม.ย. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายราย มีบัญชีทรัพย์สินที่น่าสนใจ อาทิ นายชัชวาลล์ คงอุดม กรณีพ้นตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 65 มีทรัพย์สิน 1,067,773,945 บาท เป็นทรัพย์สินของนายชัชวาลล์ 677,024,721บาท ทรัพย์สินของนางวงศ์เดือน คงอุดม คู่สมรส 390,749,224 บาท ทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุน 75,737,596บาท ที่ดิน 82 แปลง อาทิ เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตตลิ่งชัน เขตหนองจอก กทม. อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา รวมมูลค่า 363,844,574บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 18 หลัง ส่วนใหญ่เป็นตึกแถวหลายคูหาอยู่ที่ตรอกข้าวสาร เขตบางซื่อ กทม. รวมมูลค่า 113,050,400 บาท โดยตึกแถวที่มีมูลค่าสูงสุดคือ 50 ล้านบาท รองลงมาคือ 30 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายชัชวาลล์ยังมีรายการทรัพย์สินมีค่าอื่นๆ อีก 508,620,100 บาท โดยเฉพาะรายการพระเครื่อง 49 รายการ ที่มีมูลค่ากว่า 496 ล้านบาท มีพระชื่อดังมากมาย อาทิ พระเครื่องเบญจภาคี 2 ชุด ชุดละ 100 ล้านบาท รวม 200 ล้านบาท พระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา หน้าตัก 22 นิ้ว มูลค่า 30 ล้านบาท พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ 6 องค์ ราคาตั้งแต่ 5-20 ล้านบาท พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ พระประธาน มูลค่า 20 ล้านบาท พระนางพญาพิมพ์สังฆาฏิ วัดนางพญา จ.พิษณุโลก มูลค่า 20 ล้านบาท พระสมเด็จจิตรลดา 2 องค์ องค์ละ 10 ล้านบาท รวม 20 ล้านบาท นอกจากนี้ นายชัชวาลล์แจ้งว่ามีหนี้สินจากเงินกู้สถาบันการเงิน 64,614,864 บาท อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับบัญชีทรัพย์สินที่นายชัชวาลล์ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 62 แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 1,088,573,006บาท รวมแล้วมีทรัพย์สินลดลง 20.7 ล้านบาท

ขณะที่ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล พ้นจากตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม วันที่ 18 ม.ค. 66 โดยเจ้าตัวแจ้งมีทรัพย์สิน 247,437,171 บาท ได้แก่ เงินสด 4.5 แสนบาท เงินฝาก 892,391 บาท เงินให้กู้ยืม 226,300,200 บาท ที่ดิน 17,180,580 บาท ยานพาหนะ 6.5 แสนบาท ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 1,964,000 บาท ไม่มีหนี้สิน มีรายได้รวมต่อปีโดยประมาณ 163,662,920 บาท โดยเป็นเงินเดือน 1,362,720 บาท และจากการขายหุ้นแต่ยังไม่ได้รับเงิน 162,300,200 บาท มีรายจ่ายรวม 1.7 ล้านบาท

ส่วนนางยลดา หวังศุภกิจโกศล (สกุลเดิม จิตรพิทักษ์เลิศ) ปัจจุบันเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา คู่สมรส มีทรัพย์สิน 205,042,003 บาท ได้แก่ เงินสด 4 แสนบาท เงินฝาก 1,752,951 บาท เงินให้กู้ยืม 168,487,433 บาท ที่ดิน 10,137,980 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 12,160,000 บาท ยานพาหนะ 1,280,000 บาท สิทธิและสัมปทาน 1,803,638 บาท ทรัพย์สินอื่น 9,020,000 บาท มีรายได้รวมต่อปีโดยประมาณ 60,277,960 บาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายหุ้น แต่ยังไม่ได้รับเงิน 59,291,600 บาท มีรายจ่ายรวม 2.2 ล้านบาท รวมทั้งคู่มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 452,479,174 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 36,585,979 บาท

ทรัพย์สินที่น่าสนใจ นายวีรศักดิ์ มีเงินให้กู้ยืมแก่บุตรสาว 2 ราย ได้แก่ น.ส.สุดาวรรณ 2 ครั้ง ครั้งแรก 17 ก.ค. 62 มูลค่า 44 ล้านบาท ยอดหนี้คงเหลือ 44 ล้านบาท ครั้งที่สองไม่ได้ระบุยอดเงินกู้รวม แต่หมายเหตุว่า ตามสัญญาลูกหนี้ซื้อขายหุ้น โดยมียอดหนี้คงเหลือ 126,525,000 บาท ส่วน น.ส.วีรียา จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรก 8 ก.ค. 62 มูลค่า 20 ล้านบาท ยอดหนี้คงเหลือ 20 ล้านบาท ครั้งที่สองไม่ได้ระบุยอดเงินกู้รวม แต่หมายเหตุว่า ตามสัญญาลูกหนี้ซื้อขายหุ้น โดยมียอดหนี้คงเหลือ 21,420,000 บาท ส่วนนางยลดา คู่สมรส มีเงินให้กู้ยืมแก่บุตรสาว 2 รายเช่นกัน ได้แก่ น.ส.สุดาวรรณ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2562 จำนวนเงินกู้ตามสัญญา 73 ล้านบาท ยอดหนี้คงเหลือ 23.2 ล้านบาท และ น.ส.วีรียา เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2562 จำนวนเงินกู้ 64 ล้านบาท ยอดหนี้คงเหลือ 64 ล้านบาท

สำหรับการขายหุ้นของนายวีรศักดิ์ดังกล่าว พบว่า มีการขายให้กับลูก 2 คน คือ น.ส.สุดาวรรณ จำนวน 126,525,000 บาท น.ส.วีรียา 21,420,000 บาท และนายชาคริต ตรีกูล 14,355,200 บาท ส่วนนางยลดา ขายหุ้นให้กับลูกเช่นกัน คือ น.ส.สุดาวรรณ จำนวน 47,665,100 บาท และนายชาคริต ตรีกูล 11,627,500 บาท

สำหรับนายวีรศักดิ์ ก่อนหน้านี้เป็นแกนนำพรรคภูมิใจไทย ต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่ง รมช.คมนาคม และทุกตำแหน่งในพรรคภูมิใจไทย พร้อมระบุว่า จะขอวางมือทางการเมือง โดยอ้างเรื่องปัญหาสุขภาพ ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเตรียมย้ายมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย โดยในการเลือกตั้ง 2566 ปรากฏชื่อของ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล บุตรสาว ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 21 สังกัดพรรคเพื่อไทย

ทางด้าน นายสุพล จุลใส พ้นจากตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ชุมพร เขต 3 พรรครวมพลัง วันที่ 27 ม.ค. 66 แจ้งมีทรัพย์สิน 12,311,491 บาท ได้แก่ เงินฝาก 490,491 บาท ที่ดิน 5,005,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 3.4 ล้านบาท ยานพาหนะ 7 แสนบาท สิทธิและสัมปทาน 2,331,000 บาท ทรัพย์สินอื่น 385,000 บาท มีหนี้สิน 2,760,782 บาท มีรายได้รวมต่อปีโดยประมาณ 1,725,040 บาท โดยจำนวนนี้มาจากสวนปาล์ม สวนยางพารา 2.5 แสนบาท มีรายจ่ายรวม 7 แสนบาท

ส่วนนางรัชนี จุลใส คู่สมรส มีทรัพย์สิน 40,401,790 บาท ได้แก่ เงินฝาก 945,260 บาท เงินลงทุน 1,022,430 บาท (แจ้งหมายเหตุร้านกาแฟชมพลอย และ หจก.รัชพล เทรดดิ้ง ชุมพร ไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว) ที่ดิน 35,610,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 6 แสนบาท ยานพาหนะ 9.5 แสนบาท สิทธิและสัมปทาน 1,274,100 บาท มีหนี้สิน 21,407,629 บาท มีรายได้รวมต่อปีโดยประมาณ 1,160,557 บาท โดยส่วนใหญ่มาจากค่าเช่า 684,000 บาท รายได้จากสวนปาล์ม สวนยางพารา 2.5 แสนบาท มีรายจ่ายรวม 6.8 แสนบาท  ขณะที่ บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีทรัพย์สิน 643,142 บาท เป็นเงินฝาก 230,142 บาท สิทธิและสัมปทาน 413,000 บาท ไม่มีรายได้ มีรายจ่ายรวม 1.5 แสนบาท รวมทั้งหมดมีทรัพย์สินทั้งสิ้น 53,356,425 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 24,168,411 บาท

ที่น่าสนใจ นายสุพล ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเชิงลึก กรณีแจ้งถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 จำนวน 2 แปลง โดยนายสุพลแจ้งในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อปี 62 ระบุว่า มีที่ดิน ภ.บ.ท.5 รวม 2 แปลง รวมมูลค่า 1.2 ล้านบาท ไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่ได้มา ได้แก่ เลขที่ 900/2543 ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี  เนื้อที่ 5-0-41 ตรว. มูลค่า 5 แสนบาท และเลขที่ 894/2543 ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 11-3-96 ตรว. มูลค่า 7 แสนบาท อย่างไรก็ดีในการยื่นบัญชีทรัพย์สินตอนพ้นตำแหน่งปี 66 ไม่ปรากฏที่ดิน ภ.บ.ท.5 ทั้ง 2 แปลงดังกล่าวแล้ว

สำหรับนายสุพล คือพี่ชายของนายชุมพล จุลใส แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โดยนายสุพลก่อนหน้านี้ เคยลง ส.ส.พรรครวมพลัง ก่อนจะย้ายไปร่วมกับ รทสช. ในการเลือกตั้ง 2566

ส่วนอีกราย คือ นายอุดม รัฐอมฤต กรณีเข้ารับตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 66 ซึ่งนายอุดมแจ้งมีทรัพย์สิน 28,352,194 บาท ได้แก่ เงินสด 386,438 บาท เงินฝาก 1,342,803 บาท เงินลงทุน 9,512,148 บาท ที่ดิน 11.5 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 2.3 ล้านบาท ยานพาหนะ 8.1 แสนบาท สิทธิและสัมปทาน 1,920,805 บาท ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 5.8 แสนบาท ทั้งนี้มีรายได้ต่อปีโดยประมาณ 3,086,922 บาท เป็นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง 1,583,040 บาท ค่ารับรองเหมาจ่าย 6 แสนบาท บำนาญ 521,777 บาท เงินปันผลสหกรณ์ออมทรัพย์ 110,283 บาท ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 20,500 บาท เงินคืนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ 11,321 บาท ค่าทำงานทางวิชาการ 2.4 แสนบาท มีรายจ่ายรวม 1,129,010 บาท

ส่วนนางวิชชุลดา รัฐอมฤต คู่สมรส มีทรัพย์สิน 7,424,793 บาท เป็นเงินสด 1,229,570 บาท เงินฝาก 5,405,223 บาท ยานพาหนะ 1.3 แสนบาท ทรัพย์สินอื่น 6.6 แสนบาท มีรายได้ต่อปีโดยประมาณ 36,000 บาท เป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร มีรายจ่ายรวม 367,144 บาท รวมทั้งคู่มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 35,776,988 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 34,679 บาท

ทรัพย์สินอื่นที่น่าสนใจ นายอุดม แจ้งถือครอง พระทองคำ พระเครื่องเลี่ยมทองคำ 23 รายการ ได้มาระหว่างปี 29-65 มูลค่า 3 แสนบาท พระบูชา และรูปหล่อพระพิฆเนศวร 27 รายการ ได้มาระหว่างปี 36-65 มูลค่า 2 แสนบาท ขณะที่คู่สมรส พระเครื่อง และวัตถุมงคลเลี่ยมทองคำ 8 รายการ ได้มาระหว่างปี 65-66 มูลค่า 5 หมื่นบาท และสร้อยคอทองคำ 16 รายการ ได้มาระหว่างปี 32-65 มูลค่า 3.5 แสนบาท

สำหรับนายอุดม ก่อนหน้านี้ระหว่างปี  28-66 เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ปี 58-61 เป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ ศาลปกครอง ปี  58-61 เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี  58-66 เป็นกรรมการวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า ปี  59-62 เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ปี 59-66 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กพยช. ปี 61-66 เป็นกรรมการกฤษฎีกา.