เมื่อวันที่ 17 เม.ย. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์​สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ สวทช. และที่ปรึกษากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อพิจารณาเรื่อง XBB ดังนี้

1. เรื่องที่บอกว่า XBB.1.16 เป็นไวรัสที่เกาะติดและติดเชื้อเซลล์ของมนุษย์ได้ดีกว่าทุกสายพันธุ์ทั่วโลกนั้น (ค่า KD ยิ่งน้อย ยิ่งเกาะติดแน่น) ไม่เป็นความจริง

1.1 ค่า KD ของ XBB.1.16 น้อยกว่า XBB.1 จริง แสดงว่าแน่นกว่า แต่ไม่แน่นไปกว่า XBB.1.15 (สีชมพู)

1.2 XBB.1.16 ไม่ได้มีความโดดเด่นกว่า XBB.1.5 เพราะไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

1.3 จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่รายงานออกมา จะสรุปว่า XBB.1.16 เกาะติดและติดเชื้อเซลล์ของมนุษย์ได้ดีกว่าทุกสายพันธุ์ทั่วโลก ไม่น่าเป็นความจริง

2. การหนีภูมิจากแอนติบอดี เป็นเรื่องปกติของไวรัสในตระกูล XBB ทุุกตัวที่หนีภูมิเก่งอยู่แล้ว

2.1 XBB.1.16 ไม่ได้หนีภูมิคุ้มกันโดดเด่นกว่าตัวอื่นๆ

2.2 XBB.1.16 ต่อซีรั่มคนติดเชื้อ BA.2 มาได้ค่า 142 และ ต่อซีรั่มคนติดเชื้อ BA.5 มาได้ค่า 252

2.3 XBB.1.16 หนีภูมิสู้ XBB.1.15 ยังไม่ได้เลย

3. XBB.1.15 ในไทยพบมาพอสมควร (จากข้อมูล NIH กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)

3.1 XBB.1.16 จากอินเดียในสภาวะที่ไทยมี XBB.1.15 อยู่ในพื้นที่พอสมควรแล้ว จะไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ตามที่หลาย ๆ คนกังวล

3.2 บริบทของอินเดียไม่เหมือนกับไทย

นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ที่ทำให้ โควิด ซึ่งสายพันธ์นี้ไม่ได้ดุร้ายกว่าที่ผ่านมา ดูตื่นเต้น อาจต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ คือ PM 2.5 ที่ทำร้ายเยื่อบุ ตา ทางเดินหายใจ ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และการอักเสบจาก PM 2.5 ที่ไม่ควรเกิน 13.3 ด้วยซ้ำ จะปะทุไปทั่วร่าง ผสมโรงกับการติดเชื้อทั้งหลาย ประเทศไทยทำให้เชื้อธรรมดาดูดุร้ายขึ้น