เมื่อเวลา 09.55 น. วันที่ 18 เม.ย. ที่ กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม โดยมีนายปริญญ์วัฒน์ เปี่ยมปิ่นวงศ์ หัวหน้าศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรับเรื่อง เพื่อขอให้ดำเนินการวินัยร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 และตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 1011/ว4 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เรื่อง การกำชับให้ใช้มาตรการทางการบริหารแก่ข้าราชการที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 ช่วงเวลาประมาณ 11.00 น. ได้เกิดเหตุการณ์การกระทำที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรงขึ้นที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในสถานที่ปฏิบัติงานของข้าราชการสำนักงานเลขานุการกรม ตั้งอยู่อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น G (ฝั่งปีกอาคารทิศตะวันออก) โดยแหล่งข่าวแจ้งว่า ขณะเกิดเหตุซึ่งยังเป็นช่วงเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ราชการในเวลากลางวัน ได้มีกลุ่มบุคคล ประกอบด้วย อดีตบิ๊กข้าราชการดีเอสไอและลูกน้องรวม 10 คน ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ได้ดำเนินการร่วมกันด้วย

นายอัจฉริยะ กล่าวอีกว่า โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้ร่วมกันบุกเข้าไปในสถานที่ปฏิบัติงานดังกล่าว และปิดกั้นสถานที่ห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ส่วนช่วยอำนวยการและประสานราชการ (ชป.) สำนักงานเลขานุการกรม (สลก.) โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้ปิดประตูห้องและห้ามมิให้มีผู้ใด เข้า-ออก พร้อมทั้งออกคำสั่งบังคับให้เจ้าหน้าที่กว่า 14 คน ซึ่งมีทั้ง ผอ.ส่วน/พนักงานราชการ/ข้าราชการ/ลูกจ้าง เนื่องจากมีความสงสัยว่า มีเจ้าหน้าที่ในกลุ่มนี้ นำเรื่องส่วนตัวไปเผยแพร่ข้อมูลในกรมสอบสวนคดีพิเศษและในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตนมองว่า เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพอย่างร้ายแรง

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า สำหรับสถานะของบุคคล ทั้ง 14 รายนี้ เป็นเพียงข้าราชการชั้นผู้น้อย พนักงานราชการและพนักงานจ้างเหมา (ลูกจ้าง) ที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น ให้ต้องส่งมอบโทรศัพท์มือถือส่วนตัวให้กับเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้น เพื่อทำการยึดโทรศัพท์ดังกล่าวไปตรวจสอบ โดยให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เป็นเจ้าของเครื่อง ต้องเขียนชื่อของตนเองให้ตรงเครื่อง พร้อมรหัสผ่าน (PASSWORD) และใส่ลงไปในถุงซิปล็อก (ใช้เก็บพยานหลักฐานในคดีพิเศษ) โดยให้ใส่ 1 เครื่องต่อ 1 ถุง โดยได้แจ้งว่า ที่ต้องมีคำสั่งให้นำเครื่องโทรศัพท์ทั้งหมดมาตรวจ เนื่องจากมีกรณีต้องสงสัยว่าจะมีการนำความลับในเรื่องส่วนตัวของผู้บริหารระดับสูงไปเผยแพร่จนทำให้เสื่อมเสีย ทำให้เจ้าของเครื่องทุกคนเกิดความหวาดกลัวและต้องจำยอมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมอบโทรศัพท์มือถือให้ยึดไปตรวจสอบที่ส่วนตรวจ 3 (สต.3) กองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ (กทศ.) ที่บริเวณชั้น 5 ห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล

จากนั้นมีการบังคับข่มขืนใจเจ้าหน้าที่เจ้าของเครื่อง ให้เซ็นชื่อลงในหนังสือว่า เจ้าหน้าที่ที่เป็นเจ้าของเครื่องทุกคนได้ยินยอมในการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งการเซ็นชื่อให้ความยินยอมนั้น แท้จริงแล้วเป็นความเท็จ เพื่อมุ่งหมายให้สร้างความชอบธรรมแก่กลุ่มผู้บงการทั้งสิ้น แต่ที่เจ้าหน้าที่เจ้าของเครื่องทุกคน ต้องกระทำลงไปนั้น เป็นไปด้วยความหวาดกลัว เพราะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลครอบงำของผู้มีตำแหน่งและอำนาจที่เหนือกว่า เจ้าหน้าที่ที่เป็นเจ้าของเครื่องโทรศัพท์ทั้ง 14 คน จึงจำยอมต้องส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้เจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้น เพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจบังคับของผู้มีตำแหน่งหน้าที่ทางราชการที่เหนือกว่าตน

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า ซึ่งบุคคลเหล่านั้นได้อาศัยตำแหน่งที่มีอยู่ใช้เป็นอิทธิพล เพื่อบีบบังคับข่มเหงเจ้าของเครื่องซึ่งเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ระดับล่าง และมีฐานะเป็นกลุ่มลูกจ้างที่ต้องอาศัยการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อต่อสัญญาการทำงานทุกรอบเดือนหรือรอบเวลาตามสัญญา (พิจารณาต่อสัญญาทุก 6 เดือน) ทำให้ผู้ถูกกระทำย่อมเกิดความหวาดกลัวได้ว่า หากขัดขืนอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกกลั่นแกล้งและอาจถูกเลิกจ้างได้ เป็นเหตุให้ตนเองต้องถูกเลิกจ้าง (ตกงาน) อย่างไรก็ตาม ในวันยึดโทรศัพท์ ได้มีการยึดนานจนถึงเวลา 23.00 น. แต่ก็ไม่พบข้อมูลอะไรตามที่สงสัย แบบนี้เรียกว่าระแวงหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วภาพต่างๆ ที่มีปรากฏไปเที่ยวต่างประเทศด้วยกัน ระหว่างหญิงสาวเจ้าหน้าที่ดีเอสไอกับอดีตอธิบดีดีเอสไอนั้น ทางฝ่ายหญิงก็เป็นผู้โพสต์ลงบัญชีอินสตาแกรมส่วนตัวเอง

นอกจากนี้ นายอัจฉริยะ กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ตนได้มีการไปร้องทุกข์กล่าวโทษด้านคดีอาญา โดยได้ยื่นเรื่องให้ บก.ป.ป.ป. ดำเนินคดีอาญาไว้แล้วเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา ในข้อหา ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, กักขังหน่วงเหนี่ยว, ข่มขืนใจโดยใช้กำลังประทุษร้าย, ชิงทรัพย์, ปล้นทรัพย์, ก.ม.ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ส่วนทางด้านสิทธิมนุษยชน ตนได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ ให้ทำการสอบสวนกรณีดังกล่าวไว้แล้ว เมื่อวันที่ 10 ม.ค. เชื่อว่าจะมีคำสั่งออกมาในเร็วๆ นี้ และถ้าหากมีคำสั่งออกมายังทางกระทรวงยุติธรรม ก็จะต้องให้อดีตอธิบดีดีเอสไอและพวกออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องด้วยพบมูลข้อเท็จจริง

นายอัจฉริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนวันนี้ที่ตนมาส่งหนังสือร้องเรียนถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงกับอดีตบิ๊กข้าราชการดีดีเอสไอและพวก ซึ่งพฤติกรรมชู้สาว ตนให้เวลาปลัดกระทรวงดำเนินการ 1 เดือน หากไม่มีความคืบหน้า ไม่มีการเรียกสอบ หรือละเลยเพิกเฉย ตนจะไปดำเนินคดีกับปลัดกระทรวงในฐานความผิด เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ จากนั้นจะไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.