ภายหลังจากปิดการโหวตโพล รอบที่ 1 ชี้อนาคตการเมืองไทย ที่ทางสื่อ 2 สำนักใหญ่ ได้ร่วมกันจัดทำโพลเลือกตั้ง 66 “เดลินิวส์ X มติชน” ครั้งประวัติศาสตร์เพื่อสะท้อนผลเลือกตั้ง 2566 โดยการทำโพลรอบที่ 1 เริ่มโหวตวันที่ 8-14 เม.ย. ทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเดลินิวส์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ https://www.dailynews.co.th/election-2566/poll รวมถึงเว็บไซต์ในเครือมติชน นอกจากนี้ยังโหวตผ่าน ทาง “คิวอาร์โค้ด” ส่องสแกนในหนังสือพิมพ์ได้ด้วย มีประเด็นคำถาม โพลรอบแรก 2 ข้อ คือ คำถามที่ 1 “ท่านจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี” ในการเลือกตั้ง 2566 ตามด้วยคำถามที่ 2 “ท่านจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด”

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. จากที่ได้มีการวิเคราะห์ผลโพลเลือกตั้ง 66 ของ “เดลินิวส์ X มติชน” โดย วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ผศ.ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล, อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์, นายปรีชา โพธิ รองคณบดีฯ และ นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดี ในฐานะหัวหน้าทีมวิเคราะห์ผลโพล พบว่า จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่เดลินิวส์และมติชนได้ทำการสำรวจครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-14 เม.ย. 2566 เป็นเวลา 7 วัน มีจำนวน 84,706 คน ผ่านวิธีการ vote ออนไลน์ แบบไม่ซ้ำ IP Address

โดยมีประเด็นที่ได้รับความสนใจ จากการสำรวจครั้งนี้ คือผลโหวตของทั้ง “กรุงเทพมหานคร” และ “ต่างจังหวัด” โดยกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมในการตอบแบบสำรวจนั้น มีจำนวนเท่าๆ กัน คือ 49.80% และ 50.20% ทำให้ไม่มีผลต่อความคลาดเคลื่อนในประเด็นการโน้มเอียงทางภูมิศาสตร์ และผลโพลแสดงให้เห็นว่า ใน กรุงเทพฯ เลือก 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 28.48% 2.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 20.01% 3.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 18.04% และคนต่างจังหวัดเลือก 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 30.33% 2.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 26.38% 3.นายเศรษฐา ทวีสิน 17.27% ส่วน พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อันดับ 4 ที่ 9.49% และน่าแปลกใจไม่น้อย คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงมีความนิยมสูงกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ นายอนุทิน ชาญวีรกุล

สำหรับพรรคการเมืองที่คนกรุงเทพฯ เลือก 3 อันดับแรก ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 35.14%, พรรคก้าวไกล 31.42% และ พรรครวมไทยสร้างชาติ 17.15% ตามลำดับ ดังนั้น พื้นที่กรุงเทพมหานครจึงเป็นสนามเลือกตั้ง 3 พรรคใหญ่ ซึ่งประเด็นความนิยมในตัวบุคคลกับพรรคการเมือง มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง แต่หากดูสัดส่วนของความนิยมส่วนใหญ่แล้ว พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล มีรวมกันเกินกว่า 60% ในเขตกรุงเทพฯ

ขณะเดียวกันส่วนของ ต่างจังหวัด พิจารณาเป็นรายภูมิภาคจะพบว่า พรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 คือ พรรคเพื่อไทย โดยมีนิยม 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 49.83% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 43.91% ภาคตะวันออก 43.40% ภาคกลาง 43.29% และภาคตะวันตก 41.32% ตามมาด้วยพรรคก้าวไกลซึ่งได้อันดับที่ 2 ในทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ ที่มีนิยมในอันดับ 1 ที่ 36.41% ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ตามมาเป็นอันดับที่ 3 ของทุกภูมิภาค ยกเว้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยได้อันดับ 3 ที่ 14.60% ทั้งนี้ มีข้อสังเกตของกลุ่มตัวอย่างต่อความนิยมในพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ มีเพียง 6.01% ซึ่งน้อยกว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ 13.40% หรือห่างกันมากกว่าเท่าตัว สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในพรรคประชาธิปัตย์ที่ลดน้อยลงจากที่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงในพื้นที่ภาคใต้

จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าโอกาสที่พรรคเพื่อไทย จะได้รับความนิยม “แบบแลนด์สไลด์” ยังดูจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่มีภูมิภาคใดเลยที่ได้มากกว่า 50% ผลโพลยังแสดงให้เห็นว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ตามมาด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้รับความนิยมในอันดับที่ 3 ในทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นอันดับที่ 3 (15.34%) เบียดแซงเอาชนะนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 4 (10.18%) ในภาคใต้.

ทำไมคะแนน“พิธา-แพทองธาร”มากกว่า“บิ๊กตู่ ”ผลวิเคราะห์“ โพลเดลินิวส์ x มติชน