วันนี้ (24 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโลกโซเซียล ได้มีการแชร์ข้อความระบุว่า “แจ้งข่าวล่าสุด ไทยเราอยู่ในคลื่นความร้อนเอเชียมหาโหด! นะครับ ช่วงเดือนนี้และต่อไปอีก 3 สัปดาห์ ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ Monster Asian heatwave ความร้อนสูงสุดได้ถึง 50 องศาฯ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน เป็นเรื่องต้องระวังภัย เคยได้ยินแต่ยุโรปโดนคลื่นความร้อน ตอนนี้เราจะโดนบ้างแล้ว เตรียมตัวให้ดีๆ นะ ดื่มน้ำเยอะๆ เลี่ยงกิจกรรมกลางแดด”

ซึ่งเรื่องนี้ ทาง น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้เปิดเผยกับ “เดลินิวส์” ว่า จากการติดตามสภาวะอากาศของกรมอุตุฯ พบว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานว่าพื้นที่ใด ที่มีอุณหภูมิอากาศเพิ่มสูงกว่าปกติอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นคลื่นความร้อน เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีมวลอากาศร้อนจัด ยังมีลมพัด หมุนเวียน และอยู่ใกล้ทะเล จึงได้รับความชื้นเข้ามาปกคลุมพื้นที่ ดังนั้นโอกาสที่จะมีความร้อนสะสมในพื้นที่จนเกิดเป็นคลื่นความร้อน จึงเป็นไปได้น้อย

“ข้อมูลที่แชร์กันน่าจะมาจากต่างประเทศ แต่จากข้อมูลที่กรมอุตุฯใช้พยากรณ์จะมาจากสถานีตรวจวัดของกรมอุตุฯ ที่มีอยู่ 128 สถานีทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลจากข่าวในต่างประเทศที่บอกว่าวัด อุณหภูมิสูงสุด 45.4 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 66 นั้น ไม่ใช่ข้อมูลที่ กรมอุตุฯ รายงาน ซึ่งผลการตรวจวัดอุณหภูมิสูงสุด ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาตาก เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา วัดได้ 44.6 องศาเซลเซียส ซึ่งเท่ากับสถิติเดิม ที่เคยตรวจวัดได้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 59 ที่อากาศร้อนสุดในไทย”

น.ส.ชมภารี กล่าวต่อว่า ในช่วงต่อจากนี้ อุณหภูมิของประเทศไทยจะเริ่มลง ไม่ร้อนมากเหมือนช่วงที่ผ่านมา เพราะในสัปดาห์นี้ จะมี พายุฤดูร้อน มีฝนตกในหลายฟื้นที่ แม้ว่าในวันที่ 27 เม.ย. ที่ระบุว่า พระอาทิตย์จะตั้งฉากกับ กทม. ก็คาดว่าจะไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุดของปี และในช่วงต้นเดือน พ.ค. จะเริ่มมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามา ซึ่งจะทำให้เริ่มมีฝนตกในไทย และคาดการณ์ว่า การเข้าฤดูฝนของประเทศไทยในปี 66 นี้ จะเริ่มในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. นี้ ซึ่งจากข้อมูลที่มีการแชร์กันว่า ช่วง 3 สัปดาห์จากนี้ จะมีอุณหภูมิสูงถึง 50 จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หรือมีโอกาสน้อยมากๆ จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา  

อย่างไรก็ตาม ฤดูฝนในปี 66 นี้ ฝนอาจไม่ตกมากเหมือนปีที่แล้ว และอาจเกิดฝนทิ้งช่วง เนื่องจากจะเริ่มมีปรากฏการณ์เอลนีโญ ก่อตัวในช่วงเดือน ก.ย. นี้ และคาดว่า สถานการณ์เอลนีโญ จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี 67 ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่า อาจทำให้ฤดูร้อน ของปี 67 จะมีอากาศร้อนอุณหภูมิสูงกว่าปกติและแห้งแล้งมากขึ้นได้

“สิ่งที่ทำให้ปีนี้มีความรู้สึกร้อนกว่าปกติ เนื่องจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change และก๊าซเรือนกระจก ทำให้แสงแดดที่ลงมาไม่มีอะไรกรองเหมือนในอดีต จึงทำให้มีความรู้สึกว่า สภาพอากาศร้อนกว่าปกติ” น.ส.ชมภารี กล่าว