เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ เม.ย. เป็นต้นมา มีการตรวจสอบสายพันธุ์ ส่วนใหญ่ 74% เป็นอัลฟา (อังกฤษ) เดลตา (อินเดีย) 24% เบตา (แอฟริกาใต้) 1.7% เพียงแต่ว่าถ้าเราดูว่าของสัปดาห์ที่ผ่านมา เราจะพบว่าสายพันธุ์เดลตา เพิ่มมาเป็นเกือบ 57% ใน กทม.  ภูมิภาค 23% ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศ เป็นเดลตา 46.1 % พบ 60 จังหวัด บวก กทม. เป็นที่น่าสังเกตช่วงนี้ลงไปยังภาคใต้พอสมควร ส่วนจังหวัดที่พบมากขึ้นคืออุดรธานี 40 กว่าราย นครสวรรค์ 40 กว่าราย ชลบุรี  32 ราย กำแพงเพชร 14 ราย เป็นต้น จึงต้องปรับแนวทางการฉีดวัคซีน ทั้งนี้จะเห็นว่าเดลตาเบียดอัลฟาแล้ว  ส่วนจังหวัดอื่นๆ เพิ่มประปราย คาดอีกไม่นานจะกินพื้นที่สายพันธุ์ในประเทศไทยทั้งหมด  ส่วนเบตา ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคใต้

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ที่น่าแปลกใจ เราพบ 1 ราย ที่บึงกาฬ คอนเฟิร์มด้วยการตรวจสายพันธุกรรมทั้งตัว เป็นคนงานที่กลับมาจากไต้หวัน ตอนกักตัว 14 วัน ไม่พบว่าติดโควิด เมื่อกลับบ้านไปแล้วป่วย พอตรวจตอนหลังพบว่าติดโควิด พบสายพันธุ์เป็นเบตา ซึ่งเราได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อเทียบกับของไต้หวัน และภาคใต้ พบว่าไม่ได้มาจากทั้ง 2 แหล่ง เป็นเรื่องที่ต้องไปไล่ดู ทั้งนี้ได้แจ้งกรมควบคุมโรคแล้ว ส่วนคนที่ใกล้ชิดก็เอามาตรวจแล้ว  

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีสิ่งน่าสนใจ ตรวจแคมป์คนงานก่อสร้างขนาดใหญ่ ใน กทม. พบการติดเชื้อผสม ใน 1 คน มี 2 สายพันธุ์ ทั้งเดลดา และอัลฟา โดยพบ 7 ราย ใน 200 กว่าราย นี่เป็นสัญญาณว่าถ้าปล่อยให้มีการผสมสายพันธุ์แบบนี้บ่อยๆ หรือเยอะๆ นั้นจะเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ได้ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิด ดังนั้นรัฐบาลเซมิล็อกดาวน์ ขอความร่วมมือทุกคนหยุดเดินทาง เข้มงวดก็เป็นเรื่องถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดการผสมของสายพันธุ์บ่อยๆ จริงๆ ประเทศอื่นๆ ก็พบลักษณะแบบนี้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 7 ราย ยังไม่มีอาการรุนแรง แต่ต้องจับตาดูต่อไป.