เมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 26 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้เชิญหน่วยงานของรัฐที่ถูกแอบอ้างมาร่วมประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมที่ดิน กรมสรรพากร กรมการค้าภายใน กรมศุลกากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย/ส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง/ส่วนภูมิภาค โดยทุกหน่วยให้ความสำคัญและนำเสนอวิธีการแจ้งเตือนประชาชนที่แต่ละหน่วยได้ดำเนินการไปแล้ว และสิ่งที่จะร่วมมือกันดำเนินการต่อไป จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยออนไลน์ในรูปแบบของคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างหน่วยงานรัฐ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพต่อไป

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมามีมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ โทรศัพท์หรือส่งข้อความสั้นหลอกลวงประชาชน เพื่อชักจูงให้ประชาชนหลงเชื่อกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกจากบัญชีธนาคารไป หรือส่งเอกสารปลอมข่มขู่ให้ประชาชนกลัว เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งสถิติการรับแจ้งความออนไลน์มีรายชื่อหน่วยงานของรัฐที่ถูกคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างนำไปหลอกลวงประชาชน รวมทั้งสิ้นจำนวน 20,937 เคส ดังนี้ หน่วยงานราชการ 13,402 เคส, กรมสรรพากร 3,024 เคส, บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด 1,384 เคส, สถานีตำรวจ 1,303 เคส, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 590 เคส, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) 533 เคส, กรมศุลกากร 218 เคส, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 149 เคส, กรมที่ดิน 147 เคส, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย/ส่วนภูมิภาค 113 เคส, การประปานครหลวง/ส่วนภูมิภาค 51 เคส, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 16 เคส, กรมการค้าภายใน 4 เคส, กรมการจัดหางาน 3 เคส

สำหรับสถิติการหลอกลวงในระบบรับแจ้งความออนไลน์มีทั้งหมด จำนวน 244,567 เคส ส่วนรูปแบบการหลอกลวงคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างหน่วยงานของรัฐ มีจำนวน 20,937 เคส มูลค่าความเสียหาย จำนวน  3,328,454,052.35 บาท คิดเป็น 8.56 เปอร์เซ็นต์ ของรูปแบบการหลอกลวงทั้งหมด ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565-22 เม.ย. 2566 ทั้งนี้แต่ละวันได้รับแจ้งคดีการหลอกลวง 700-800 เรื่อง/วัน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งคดีการหลอกลวง 14 คดีหลัก จำนวน 4,101 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 349 ล้านบาท 

ด้าน นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า ในส่วนของกรมที่ดินพบว่ามีการหลอกลวงโดยการโทรศัพท์แอบอ้างเป็นกรมที่ดินเรื่องเสียเบี้ยปรับเงินที่ดินเเพิ่ม และหลอกลวงให้ปรับปรุงข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน โดยสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมา จึงขอแนะนำว่าอย่ากดลิงก์ไปกรอกแก้ไขข้อมูลเด็ดขาดและหากเป็นแอปจริง ก็ต้องโหลดผ่าน play store และ App Store เท่านั้น เพราะหากกดลิงก์เข้าไปคนร้ายจะใช้สปายแวร์เพื่อเก็บรหัสผ่านนำไปใช้ดูดเงิน พร้อมระบุว่า ได้รับแจ้งข้อมูลตั้งแต่เดือนมการาคมที่ผ่านมา มีการอ้างชื่อกรมที่ดินไปใช้เก็บเงินภาษีที่ดิน ซึ่งเตือนว่ากรมที่ดินไม่มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ แต่หนท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งตั้งแต่มีนาคม-เมษายน ได้รับร้องเรียนผ่านคอลเซ็นเตอร์เบอร์ 0-2141-5555 กว่า 800 สาย ติดต่อสอบถามด้วยตนเอง 15 ราย ผ่านแอปพลิเคชัน 2 ราย มีผู้เสียหายถูกหลอกลวงโอนเงินไปแล้ว 5 ราย สูญเงินมากสุด 1 ล้านบาท น้อยสุดหลักร้อย ทั้งนี้กรมที่ดินได้แจ้งความเอาผิดแล้ว 2 คดี คดีแรกแจ้งความกองปราบปราม เพื่อให้ตรวจสอบการปลอมแปลงลายเซ็นของตนเอง และอีกคดีเป็นการปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์กรมที่ดิน 

ด้าน น.ส.จิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ สายงานกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่ไม่มีธุระติดต่อกับต่างประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรฯ เข้ามาสามารถกด *138*1# แล้วกดโทรฯ ออก จะเป็นการปิดกั้นสายเรียกเข้าจากต่างประเทศทุกกรณี 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประสานหน่วยงานของรัฐที่ถูกแอบอ้างแล้ว ได้รับการยืนยันว่าไม่มีการใช้วิธีติดต่อประชาชนในรูปแบบที่มิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์แอบอ้าง จึงได้แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงวิธีการของคนร้าย จุดสังเกต และแนวทางการระวังป้องกันตนเองไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพตลอดมา แต่ปรากฏว่าปัจจุบันยังมีประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอยู่เป็นจำนวนมาก