“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ และแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) สลับขึ้นเหนือล่องใต้พบปะพี่น้องประชาชนกันแบบถี่ๆ พร้อมขึ้นเวทีปราศรัยกันไม่เว้นแต่ละวัน เช่นเดียวกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิม

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเปิดเกมรุกทุกพื้นที่ อ้อนขอเสียงแลนด์สไลด์กันจนเสียงแหบแห้ง เห็นได้จาก “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ต้องฉายเดียว เพราะ “อุ๊งอิ๊ง” แพรทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย (พท.) และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ต้องทิ้งช่วงการลงพื้นที่พบประชาชน เพราะเตรียมคลอด

แต่เมื่อคลอดปุ๊บ ตีปี๊บเปิดแถลงข่าวหลังคลอดทันที เตรียมไปร่วมเวทีปราศรัยใหญ่ที่อิมแพ็คอารีนา เมืองทองธานี วันที่ 12 พ.ค. แน่นอน พร้อมบอก “ตอนนี้นับถอยหลังเลือกตั้ง ทุกคนทำงานกันหนัก ยุทธศาสตร์โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย จะย้ำนโยบายที่ปล่อยไปแล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพชัด เพื่อให้คนตัดสินใจ” เท่านั้นยังไม่พอยังมี คุณตาแม้ว “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “เช้าวันนี้ ผมดีใจมากที่ได้หลานคนที่ 7 เป็นชาย ชื่อ ธาษิณ จากน้องอิ๊งค์ แพทองธาร หลานทั้ง 7 คน คลอดในขณะที่ผมต้องอยู่ต่างประเทศ ผมคงต้อง ขออนุญาต กลับไปเลี้ยงหลาน เพราะผมอายุจะ 74 ปี กรกฎานี้แล้ว พบกันเร็วๆ นี้ ครับ ขออนุญาต นะครับ”

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จะกลายเป็นดราม่าเรียกเรตติ้งให้กับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ ก็ต้องจับตาดูกัน!

ส่วน พรรคก้าวไกล ที่ขณะนี้กระแสโหมแรงมาก มีการวางแม่ทัพออกดาวกระจาย พร้อมจัดขุนพลเกรดเอ ออกรบตีหัวเมืองต่างๆ อีกทั้งมีความพร้อมขึ้นเวทีดีเบตทุกเวที เรียกเรตติ้งทะลุฟ้าจากคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางกระแสโพลพุ่งๆ

ล่าสุดโพลเดลินิวส์-มติชน สะท้อนชัด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขึ้นเต็งหนึ่ง ตามด้วย อุ๊งอิ๊ง แพรทองธาร โดยมี ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ วิ่งไล่ตาม จากผลโพลที่ออกมา ทำให้ทุกสายตาต้องจับจ้องไปที่ความเคลื่อนไหวของเต็งหนึ่งทั้งหลาย โดยต้องมาลุ้นกันว่า กระแสในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเข้าคูหา ใครจะเป็นตัวชิงเกมเบียดคู่แข่งเข้าเส้นชัย เป็นโต้โผในการจัดตั้งรัฐบาล

แต่ที่แน่ๆ สัปดาห์สุดท้าย ผลโพลที่ออกมาย้ำให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคซีกประชาธิปไตยหรือฝ่ายเสรีนิยม ต้องมาแข่งขันกันเอง สลับกันขึ้นลงกระแสพุ่งไม่หยุด สุดท้ายเราก็ต้องมาจับตาดูว่า ผลที่สุดแล้วจะออกมาตามที่โพลสำรวจหรือไม่ และใครจะจับมือกันร่วมรัฐบาลอย่างไร ต้องรอดูผลคะแนนที่แท้จริง หากพรรคก้าวไกลได้อันดับหนึ่ง และจับมือกับพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล ก็เท่ากับว่าประเทศไทยมาถึงจุดเปลี่ยนที่แท้จริง

แต่ถ้าพรรคเพื่อไทย ตีชิ่งไปอยู่กับ 2 ลุง ก็จะเป็นจุดจบของ พรรคเพื่อไทย แน่นอน เพราะจะไม่มีเหตุผลใดนำมากล่าวอ้างตอบคำถามเหล่าบรรดาสาวกได้ เพราะที่ผ่านมาได้ประกาศไว้ชัดเจนแล้วว่า จะไม่ร่วมกับบรรดาลุงๆ             

เมื่อมาส่องไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้งของ กกต. หลังคนไทยตบเท้าเข้าคูหา เลือกพรรคที่ชอบ คนที่ใช่ในวันที่ 14 พ.ค. แล้ว กกต. จะใช้เวลาตรวจสอบและประกาศผลการเลือกตั้ง 60 วัน ซึ่งจะตกอยู่ในช่วงประมาณเดือน ก.ค. 2566 เมื่อ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว จะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไทย และจะมีการเลือกประธานรัฐสภา ประมาณกลางเดือน ก.ค. 2566

จากนั้นก็จะเข้าสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา เมื่อได้ชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว คาดว่าจะมีการโปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี ประมาณช่วงปลายเดือน ก.ค. 2566 หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และการถวายสัตย์ฯ ก่อนดำรงตำแหน่ง โดยจะมีรัฐบาลใหม่บริหารประเทศ ในเดือน ส.ค. 2566

ซึ่งตลอดระยะเวลาตามไทม์ไลน์ข้างต้น ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.-ส.ค. 2566 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังจะต้องอยู่รักษาการต่อ นับรวมแล้วเป็นเวลาประมาณ 4 เดือนครึ่ง

ดังนั้นหลังเลือกตั้งคงต้องฝุ่นตลบกันอีกรอบ เพราะทุกพรรคการเมืองรู้แล้วว่า ผลคะแนนที่ได้มา ใครได้จำนวน ส.ส. เท่าไหร่ โดยขั้วอำนาจแรก คือ ขั้วอำนาจฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน ทั้ง พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และหมายรวมถึง พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติพัฒนากล้า โดยในกลุ่มนี้ มีการประเมินว่า หากได้รับเลือกตั้งในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งในปี 2562 โอกาสที่จะจับมือกัน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งก็เป็นไปได้สูง โดยที่มีเสียงสนับสนุนของ ส.ว. เสริมอีกแรงหนึ่ง

ส่วนอีกฝ่ายคือ ขั้วอำนาจฝ่ายค้าน ทั้ง พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย ซึ่งในกลุ่มนี้มีการประเมินว่า หากพรรคเพื่อไทยสามารถทำแลนด์สไลด์ได้สำเร็จ โดยกวาด ส.ส. ได้มากกว่า 250 เสียง หรืออาจสูงถึง 280 เสียง แต่ก็ยังมีเงื่อนไขสำคัญหากจะไปถึงเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาล โดยจะต้องรวมเสียงพรรคในกลุ่มขั้วอำนาจของตน ให้ได้ถึง 375 เสียง ถึงจะสามารถเอาชนะขั้วอำนาจอีกฝ่าย และเสียง ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ

ตอนนี้ยังคาดเดายากว่า ใครจะจับขั้วกันอย่างไร อย่างที่ “อ.วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ออกมาพูดเรื่องการจับขั้วทางการเมือง ว่า ปกติจะไม่พูดกันก่อนวันเลือกตั้ง แต่ในคืนวันเลือกตั้งที่ผลออกแล้วจึงจะพูดกัน เพราะพูดตอนนี้ยังไม่แน่นอน ฉะนั้น เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่แค่รู้คร่าวๆ หลังปิดหีบ 24 ชั่วโมง แต่ยังปักใจไม่ได้ เพราะการเมืองก็เป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดา หากผลเลือกตั้งออกมาคะแนนสูสี การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอาจจะช้าได้

“หลังปิดหีบเลือกตั้ง กกต. ยังมีเวลาที่จะประกาศผลภายใน 60 วัน ไทม์ไลน์เป็นแบบนี้ แต่ผมตอบไม่ถูกว่าจะได้เห็นรูปร่างหน้าตารัฐบาลใหม่เมื่อไหร่ เพราะผลยังไม่ออก คะแนนยังไม่ได้ อะไรก็ยังไม่รู้ และในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องหานายกฯ ได้ภายในกี่วัน แต่ในที่สุดต้องเลือกกันจนได้ แม้จะยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ แต่จะไม่เกิดสุญญากาศและไม่เกิดเดดล็อกแน่นอน เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ให้รัฐบาลรักษาการทำอะไรได้หลายเรื่อง เช่น ขอใช้งบกลางก็ได้” นายวิษณุ กล่าว

ดังนั้นจึงต้องมาดูกันว่าวันที่ 14 พ.ค. 66 นี้ ผลคะแนนที่ชี้อนาคตประเทศจะออกมาอย่างไร ซึ่งประชาชนทั่วไปยังมีเวลาในการศึกษาถึงนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง นอกจากพรรคการเมืองที่ทำงานหนักแล้ว ประชาชนก็ต้องทำงานหนักด้วย และเมื่อผลออกมาแล้ว ก็ต้องยอมรับกับผลที่ได้ตัดสินใจกันไปแล้ว.