เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่อาคารมติชน เดลินิวส์และมติชน ร่วมสรุปผลและวิเคราะห์ผลโพลเลือกตั้ง 2566 และวิเคราะห์ผลโพลสู่ผลเลือกตั้ง ฟันธงโค้งสุดท้าย โดยมี นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์ ร่วมวิเคราะห์

โดยนายประจักษ์ กล่าวว่า ทุกโพลมีความคลาดเคลื่อนเสมอ ทั้งนี้หากดูตามผลสำรวจของมติชนกับเดลินิวส์ จะเห็นว่ามีบางกลุ่มตอบแบบสอบถามเกินกว่าสัดส่วนประชากรที่ตัวเองมีอยู่จริง สะท้อนเสียงดังของคนบางกลุ่มขึ้นมา เช่น ในความเป็นจริงเพศชายกับเพศหญิงในสังคมไทยไม่ได้ห่างกันขนาดนี้ แต่โพลกลายเป็นว่า เพศชายมาตอบ 62% เพศหญิง 32% ดังนั้นเสียงของผู้หญิงอาจจะไม่ถูกสะท้อนเท่าความเป็นจริง แง่การศึกษาซึ่งคนไม่จบปริญญาตรีเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่โพลมีคนต่ำกว่าปริญญาตรีตอบแค่ 28% ดังนั้น เสียงของคนปริญญาตรีก็จะดังที่สุด ขณะที่อาชีพพนักงานบริษัทตอบมากสุดถึง 1 ใน 4 ของแบบสำรวจนี้ เกษตรกร 3% กว่าๆ ทั้งๆ ที่สัดส่วนชาวนามีประมาณ 20% และคนมีรายได้สูงเกิน 50,000 บาทขึ้นไปมาตอบถึง 23% ซึ่งไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่สิ่งที่ค่อนข้างสะท้อนจริงคือ อายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อีกอันหนึ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ คนกรุงเทพฯ เสียงค่อนข้างดัง ตอบเยอะถึง 27% 

นายประจักษ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นชัดเจนว่าทุกโพลที่ออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตัวเลขต่างกันนิดหน่อย คือ พรรคฝ่ายค้านทั้งรวมกันต่ำที่สุดตอนนี้บางโพลให้ 70% มติชนกับเดลินิวส์ไปถึง 83% ส่วนพรรคฝ่ายร่วมรัฐบาลตอนนี้รวมกันสูงสุดไม่เกิน 30% บางโพลต่ำไปถึง 15% ถ้าดูปาร์ตี้ลิสต์ของมติชนกับเดลินิวส์ จะเห็นว่า ก้าวไกล, เพื่อไทย รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกนายกฯ หรือเลือกพรรคในระบบบัญชีรายชื่อ 80% กว่าๆ ถ้าตีมาเป็นตัวเลขพรรคฝ่ายการรวมกันได้ 70% แล้วก็หมายความว่า 350 ที่นั่ง ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลรวมกัน 150 ที่นั่ง ส่วน ส.ส.เขต ยังต้องว่ากันอีกทีเพราะในการแข่งขันไม่ว่าเปอร์เซ็นต์จะเท่าไหร่ แต่ผู้ชนะอันดับ 1 เท่านั้นถึงจะได้เป็น ส.ส. แต่ก็เห็นแนวโน้มจากการประเมินเชิงพื้นที่ของนักวิชาการนักวิเคราะห์ ก็มีทิศทางเป็นทางเดียวกันว่า พรรคร่วมรัฐบาลรวมกันแล้วจะได้ ส.ส.เขตค่อนข้างน้อย 

นายประจักษ์ กล่าวว่า ส่วนตัวจึงคิดว่าผลการเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่จะเห็นค่อนข้างเจนในแง่ของเสียงข้างมาก นำไปสู่ประเด็นถัดไป ถึงฝ่ายรัฐบาลตกอยู่ในสถานะที่ลำบาก เพราะคะแนนห่างกันค่อนข้างมาก ที่นั่งห่างกันค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลกลับมีการแข่งขันกันเอง เช่น ภาคใต้ 60 ที่นั่ง มีร่วมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ที่แข่งกันเอง ขณะที่ เพื่อไทย ก้าวไกล ก็สามารถแทรกได้ในเชิงของปาร์ตี้ลิสได้ ซึ่งคนภาคใต้เปิดใจมากขึ้นแล้ว คะแนนที่นั่งพักร่วมรัฐบาลแย่งกันเองขณะที่มีแค่ 60 ที่นั่ง ก็ต้องมาแบ่งกันเอง 

นายประจักษ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านจริงๆ สมการมันง่าย แต่กลับไปทำให้มันยากในตอนนี้ มีการทะเลาะถกเถียงกันรุนแรงมาก แต่ถ้าเห็นผลการเลือกตั้งแล้วมันชัด พรรคเพื่อไทยก็เก่ง แง่ของเขต โดยจะเห็นว่าส่งเท่าไรก็จะได้ประมาณ 50% เมื่อบวกกับปาร์ตี้ลิสต์ 250 แน่ๆ แต่พรรคก้าวไกลก็มาแรง เห็นจากช่วงแรกๆ ทุกสำนักโพลให้น้อย ประมาณ 40% แต่ตอนนี้ไม่มีใครกล้าพนันแล้ว เพราะผลโพลและกระแสก้าวไกลเกินจากตรงนี้ไปแล้วปาร์ตี้ลิสต์ประมาณ 30-35 ที่นั่ง กทม.อีก 10 กว่า เขต ดังนั้นเกิน 60 แน่ รวมกับประชาชาติ ซึ่งมีฐานเสียงชัดเจน ดังนั้น ในฐานเสียงภาคใต้ 6-7 ที่นั่งเป็นอย่างน้อย  

“ถ้า 240 ที่นั่งแล้วฝืนตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้วไปดึงงูเห่าทีหลังได้ แต่ถ้าสมมุติรวมกันแล้วได้ 180 หรือ 200 ที่นั่ง จะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่ได้ และในประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยมีรัฐบาลเสียงข้างน้อย ในโลกนี้ รัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่มีที่ไหนอยู่ได้ เพราะผ่านกฎหมายไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ไม่มีศักยภาพในการผลักดันนโยบาย และที่สำคัญคือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน จะทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมาก อันตรายมาก” นายประจักษ์ กล่าว 

นายประจักษ์ กล่าวว่า ส่วนการสร้างสถานการณ์ยุบพรรค ดูด ส.ส.งูเห่า นั้นมีโอกาส เหมือนที่ถามว่ามีโอกาสเกิดรัฐประหารหรือไม่ ก็มี อย่าตอบว่าไม่มี เพราะมันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ครั้งนี้ถ้าทำผลจะไม่เหมือนเดิม ผลจะออกมาตรงกันข้าม เพราะ 1.อย่าดูเบา หรือดูถูกเสียงของประชาชน ถ้ายุบพรรคที่มีคนเลือกมากขนาดนี้ ไม่ว่าจะเพื่อไทย หรือก้าวไกล เชื่อว่าจะเกิดปฏิกิริยาแน่ๆ คนฉลาดย่อมรู้ว่าการใช้วิธีการเดิม ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปผลจะไม่เหมือนเดิม มีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะใช้วิธีการเดิม และหวังผลที่เปลี่ยนแปลงไป และถึงยุบผลก็ไม่เปลี่ยนแปลงมาก เพราะ 1.เขาไม่ได้เอาคนสำคัญไปเป็นกรรมการบริหารพรรคเยอะถึงขั้นที่จะทำให้จำนวน ส.ส.ลดลง 2.ถ้ายุบแล้วหวังจะมาดูด ส.ส.งูเห่า ซึ่งคนที่มีสปิริตแบบงูเห่านั้นไปหมดแล้ว ส่วนจะมีงูเห่าใหม่หรือไม่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ต้องมีแรงดึงดูดเยอะมากกระสุนต้องหนามาก แล้วคราวนี้ประชาชนจะไปตีงูเห่าเอง  

“ประเด็นคือการยอมรับกติกาประชาธิปไตย ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร ลงทุนเดินหาเสียง มาเป็นนักการเมืองแล้วก็ต้องมี Spirit ของนักการเมือง ต้องลืมภาพของทหาร การรัฐประหาร แล้วเดินหาเสียงตามกติกาถ้าแพ้เยอะแพ้ชัดเจนก็ต้องยอมรับ ถ้าได้เสียงข้างมากก็จัดตั้งรัฐบาลแบบนี้จะสง่างามกว่า” นายประจักษ์ กล่าว 

นายประจักษ์ ยังกล่าวต่อไปว่า ส่วนถามว่าจะมีเพื่อไทย ก้าวไกล จะเป็นแบบตาอินกับตานาแย่งกัน และมีตาอยู่อย่างภูมิใจไทยมาแย่งไปหรือไม่นั้น ก็ต้องตอบตามตัวเลขทางวิชาการการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนปี 62 ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย ไปตัดคะแนนกันเอง ทำให้บางเขตคนของพรรคร่วมรัฐบาลชนะมาได้ แต่ตอนนี้จะเหลือน้อยมากกับเขตแบบนั้นที่ เช่นภาคใต้ตอนบนพรรคร่วมจะตัดคะแนนกันเอง ส่วนเพื่อไทยกับก้าวไกลไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเป็นอันดับ 1 อันดับ 2 ส่วนยะลา ปัตตานี นราธิวาส มี 13 เขต เพื่อไทย กับ ก้าวไกล ก็ไม่ใช่คู่แข่งรับ แต่คนที่แข่งกันคือ ประชาชาติ กับ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ ซึ่งประชาชาติ เป็นตัวแทนของฝ่ายค้านสู้ในพื้นที่นั้น ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อไทย กับ ก้าวไกล ก็ไม่ได้แข่งกันเอง เพียงแต่เขตไหนใครจะมา หรืออย่างบุรีรัมย์ เพื่อไทย ก้าวไกล ไม่ไปตัดกันเอง เพราะสู้กับภูมิใจไทยไม่ได้ หรือสุพรรณบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ชนะอยู่แล้ว เป็นต้น ส่วนหลายเขตสูสีกันอาจพลิกชนะได้ แต่เพื่อไทยก็ไมได้แข่งกับก้าวไกล เช่นศรีสะเกษ เพื่อไทยจะแข่งกับภูมิใจไทย ยิ่งกระแสโค้งสุดท้ายมาแบบนี้ ซึ่งทุกโพลรวมถึงมติชนและเดลินิวส์ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายค้านรวมกันแล้ว เพื่อไทย ก้าวไกล กระโดดไปถึง 70-80% ส่วนฝ่ายรัฐบาลรวมกันเหลือแค่ 10% เพราะฉะนั้น เขาแบ่งกันไปแล้ว 35% คน 10% จะเป็นตาอยู่ไม่ได้  

เมื่อถามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ควรเลือกตั้งตามเจตจำนง หรือเชิงยุทธศาสตร์ นายประจักษ์ กล่าวว่า ตอนนี้ฝั่งที่เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์จริงๆ คือฝ่ายอนุรักษนิยม ที่มีความพยายามบอกว่าต้องเลือกลุงตู่ พรรคลุงตู่ ไม่อย่างนั้นจะยิ่งแพ้ราบคาบ ถ้าตัดคะแนนกันเองจะยิ่งแพ้หมด ตอนนี้จึงเริ่มรณรงค์โหมดถึงยุทธศาสตร์ให้โหวตพรรคเดียวในขั้วอนุรักษนิยมเพื่อให้ชนะขาด แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ยังยาก ตามที่โพลชี้ ดังนั้นโอกาสจะเกิดสถานการณ์ตาอยู่ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์กลับมาตั้งรัฐบาล กลับมาเป็นนายกฯ ยาก การจะกลับมาได้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องฝ่าด่าน 25 เสียงก่อน แต่ก่อนคิดว่าแบเบอร์ ตอนนี้เริ่มต้องลุ้นเหงื่อตก 2.อย่าลืมว่าถ้าจะมีความชอบธรรม พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ได้ รวมไทยสร้างชาติต้องได้ที่นั่งมากที่สุดในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งภูมิใจไทยหาเสียงก็ถูกโจมตีว่าเลือกภูมิใจไทยก็ได้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ นายอนุทินเองก็บอกว่าหากได้เสียงมาก จะยกตำแหน่งให้คนอื่นทำไม ดังนั้น หากภูมิใจไทยได้ที่นั่งมากกว่า ซึ่งมีโอกาสมาก จึงยากที่ พล.อ.ประยุทธ์จะไปขอตำแหน่งนายกฯ อีกทั้ง ส.ว.ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพเหมือนเดิม และถ้าได้คะแนนเสียงต่ำ จะไปเอา ส.ว.มาหนุนก็ยาก ดังนั้น ไม่ว่าจะออกแบบยุทธศาสตร์การเลือกตั้งอย่างไร ก็ต้องวางอยู่บนฐานข้อมูลที่เป็นจริง ถึงจะออกแบบยุทธศาสตร์การเลือกตั้งได้ถูกและนำไปสู่โอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ได้ ตอนนี้ฝ่ายที่ปวดหัวหนักมากกว่าคือขั้วรัฐบาล 

ส่วนการซื้อเสียงหนักช่วงโค้งสุดท้ายจะมีโอกาสพลิกแค่ไหนนั้น จะเห็นว่าขณะนี้มีการทุ่มตัวเลขซื้อเสียงหนักในภาคใต้ แต่ตนว่าไม่ถึง 5% ที่จะพลิกการเลือกตั้งได้ จึงไม่ถึงกับจะเปลี่ยนขั้วอะไร แค่จะเพิ่มที่นั่งของบางพรรคขึ้นมาเท่านั้น.