“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าผ่านแนว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ที่ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด โดยเงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบในช่วงแรก ก่อนจะพลิกแข็งค่าก่อนผลการประชุมเฟด เนื่องจากเงินดอลลาร์ เผชิญแรงขายตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐ หลังจากที่ข้อมูลการเปิดรับสมัครงานเดือน มี.ค. ของสหรัฐ ลดลงไปที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี

นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกที่กลับขึ้นไปยืนเหนือแนว 2,000 ดอลลาร์ ต่อออนซ์ได้อีกครั้ง

อนึ่ง ตลาดการเงินในประเทศปิดทำการและเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาว ก่อนผลการประชุมเฟดในวันที่ (2-3 พ.ค.) และผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (4 พ.ค.)

ในวันพุธที่ 3 พ.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.03 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 34.14 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (28 เม.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 2-3 พ.ค. เม.ย. 2566 นั้น แม้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยประมาณ 409 ล้านบาท แต่ก็มีสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยถึง 18,856 ล้านบาท

สัปดาห์ถัดไป (8-12 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์แบงก์ และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน เม.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคเดือน พ.ค. (เบื้องต้น) ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOE และตัวเลขเศรษฐกิจเดือน เม.ย. ของจีน อาทิ ข้อมูลการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวน