พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (7 พ.ค. 66) : ประเทศไทยมีอากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่บริเวณประเทศไทยตอนบน ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ และระวังโรคลมแดดเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด ทั้งนี้เนื่องจากความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า : ในช่วงวันที่ 8 – 10 พ.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 11 – 13 พ.ค. 66 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

สำหรับภาคใต้ในช่วงวันที่ 7 – 8 พ.ค. 66 ลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนในช่วงวันที่ 9 – 13 พ.ค. 66 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 8 – 13 พ.ค. 66 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน คาดว่าจะเคลื่อนผ่านอ่าวเบงกอลตอนกลาง และทะเลอันดามันตอนบน หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 11 – 13 พ.ค. 66 จะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเมียนมา

ข้อควรระวัง: ในช่วงวันที่ 8 – 10 พ.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง ส่วนในช่วงวันที่ 11 – 13 พ.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 9 – 13 พ.ค. 66

สถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (6 – 7 พ.ค. 66): ไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศและใกล้เคียงที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

ภาพถ่ายดาวเทียม เวลา 15.45 น. (7/5/66) : เริ่มมีเมฆ/ฝนเกิดขึ้นบริเวณอีสาน จากอิทธิพลของมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาปกคลุมจีนตอนใต้และเวียดนามตอนบน ทำให้มีทิศทางลมแปรปรวน ส่วนภาคใต้มีลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม กลุ่มฝนเคลื่อนตัวจากทางด้านทะเลอันดามันเข้าสู่ฝั่ง

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @กรมอุตุนิยมวิทยา