“ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสนี้สนทนากับ 2 นักวิชาการ ที่ได้เห็นการจับขั้วเปลี่ยนข้างในการตั้งรัฐบาลมาหลายสมัย มาวิเคราะห์ความเป็นไปได้การเมืองไทย หลังผลการเลือกตั้งมีความชัดเจนแล้ว 

เริ่มที่ “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่า ดูจากการจัดตั้งรัฐบาล ยังคิดว่าโอกาสของ พรรคก้าวไกล ยัง 50 : 50 ถ้าไม่ได้มองถึงการประกาศรับรองผลของ กกต. ซึ่งจะเห็นว่าตอนแรก พรรคก้าวไกล ก็ประกาศรวมคะแนนเสียงจากพรรคอื่นที่อยู่ในซีกฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันถึง 310 เสียง แต่เงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งคือ จุดยืนเกี่ยวกับ มาตรา 112 ที่ไม่ว่าจะออกทางไหน ก็ส่งผลลบกับ พรรคก้าวไกล ทั้งสิ้น

เพราะหากยกเลิกหรือแก้ไข ก็จะมีแรงต้านจาก ส.ว. ขณะเดียวกันก็มีหลายพรรคการเมืองที่ไม่สามารถรับในประเด็นนี้ จึงไม่มาร่วมรัฐบาลได้ แล้วถ้าก้าวไกลยังเดินหน้าต่อจนถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การเสนอชื่อ “นายพิธา” บรรยากาศก็จะพูดถึงมาตรา 112 ลึกขึ้น เข้มขึ้น ยิ่งทำให้พรรคที่จะร่วมกับพรรคก้าวไกลแตกออก จนอาจจะแสดงจุดยืนว่าไม่เอาด้วย แต่หาก พรรคก้าวไกล ลดโทนลง ไม่พูดไม่แตะ มาตรา 112 เพื่อให้คุยกับหลายฝ่ายได้ง่ายขึ้น แต่จะตอบคำถามมวลชนได้อย่างไร และเป็นประเด็นให้ถูกโจมตีถึงนโยบายอื่นๆ ที่อาจจะถอยได้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร การทลายทุนผูกขาด เป็นต้น

สำหรับเรื่องการถือหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา ก็เป็นอีกหนึ่งเกมการเมืองที่ถูกหยิบมาใช้ ท้ายที่สุดเมื่อ กกต. พิจารณาแล้ว ถ้า กกต. ไม่รับรองผล แล้วเอาชื่อนายพิธา ไปแขวนไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญก่อนยังไม่ตัดสิน ก็เป็นได้หรืออาจจะตัดสินไปเลยก็ได้ว่า ไม่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 98 วงเล็บ 3 ไม่สามารถเป็นแคนดิเดตได้ แต่คิดว่าคงไม่ทำเร็วๆ นี้ จะปล่อยให้กระแสต่างๆ ลดลงไปก่อน

“วันนี้ก้าวไกลมีการรวมเสียงจาก 8 พรรคการเมือง ได้มา 313 เสียง ถ้าจัดตั้งรัฐบาลด้วยจำนวนพรรคเยอะขนาดนี้ ผมยังมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการบริหารบ้านเมือง แต่ปัญหาคือพรรคก้าวไกล จะสามารถตั้งรัฐบาลได้หรือเปล่า เพราะเสียงยังไม่เกินกึ่งหนึ่ง แล้วในบรรดาเสียงจากพรรคการเมืองคงไม่เพิ่มไปจากนี้แล้ว ต้องอาศัยเสียง ส.ว. แม้ว่าวันนี้จะมี ส.ว. บางคนออกมาแสดงจุดยืนว่า สนับสนุน แต่หนทางอีกยาวไกล”

นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้าไม่น้อย โดยเฉพาะความเป็นรัฐราชการ ที่เปรียบเสมือน “พรรคราชการ” ที่ใหญ่ที่สุด พรรคก้าวไกล จะไปต่อสู้กับตรงนี้ได้หรือไม่ รวมถึงการแบกความคาดหวังต่อนโยบายการเปลี่ยนแปลงประเทศมากมาย ถ้าสุดท้ายทำไม่ได้ โมเมนตัมก็จะเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้จำนวนที่นั่ง ส.ส.ก้าวไกล ห่างกับเพื่อไทยประมาณ 10 ที่นั่งเท่านั้น หลัง กกต. ประกาศรับรองผล อาจจะมีการพลิกโผก็ได้ ตอนนี้เพื่อไทยให้พรรคอันดับ 1 คือ ก้าวไกลเป็นคนจัดตั้ง แต่หากก้าวไกลตั้งไม่ได้ หรือพลิกโผ เพื่อไทยเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ก็มีความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาล ก็จะไม่มีก้าวไกล และกลายเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งจะเป็นฝ่ายค้านที่อ่อนแอ เพราะคนละอุดมการณ์ 

ส่วนตัวมองว่าถึงตอนนั้น หากก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล นายพิธาไม่ได้เป็นนายกฯ ก็มีโอกาสเกิดการเคลื่อนไหวของมวลชน แต่ขนาดไม่ใหญ่ ถ้าได้เป็นรัฐบาล อาจจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีใครอยู่ได้ครบเทอม แต่การอยู่ไม่นานนั้น อาจจะไม่ถึงขั้นรัฐประหารโดยกองทัพ แต่อย่าลืมว่าการรัฐประหารก็มีพัฒนาการไม่แพ้พัฒนาการประชาธิปไตย รัฐประหารไม่ต้องใช้กำลังทางกายภาพ อาจจะเป็นรัฐประหารกฎหมาย รัฐประหารที่มีความแยบยล

ด้าน “ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวว่า ตอนนี้ชัดเจนว่า ไม่มีใครขวางทาง พรรคก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ความสำเร็จจะได้ถึง 100% หรือไม่ ต้องดูหลายปัจจัย พรรคก้าวไกลได้คะแนนมากเกินคาดหวัง แต่ไม่ถล่มทลาย ทำให้กลายเป็นปัญหา ต้องหาพรรคอื่นๆ สนับสนุน อย่างเพื่อไทย และพรรคอื่นๆ แต่ก็ได้มาราวๆ 313 เสียง ซึ่งไม่พอ ทำให้ปัจจัยความสำเร็จเหลือแค่ 50% จึงต้องพูดถึงสภาบน หรือ ส.ว. ที่ต้องได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อย 66 เสียง

ขณะที่โอกาสของพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งอยู่ที่ 50% ในตอนเริ่มต้น จึงให้การสนับสนุนพรรคก้าวไกล พร้อมช่วยการเจรจากับพรรคการเมืองและ ส.ว. ให้ พอก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้ พรรคเพื่อไทยก็งัดโอกาส 50% ขึ้นมา และการที่ไปช่วยเจรจาไว้ กลายมาเกื้อหนุนพรรคเพื่อไทย นำไปสู่ความสำเร็จ 100% ในการตั้งรัฐบาลได้ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้

“ก้าวไกลได้เสียงมากก็จริง แต่ไม่ถล่มทลายเลยเป็นปัญหา ไม่ได้มีใครทำอะไรก้าวไกล ไม่มีใครบิดเบือนคะแนนของก้าวไกล ไม่มีใครทำตัวไม่เป็นประชาธิปไตยอะไรเลย” และด้วยนโยบายของพรรคก้าวไกลเอง ก็อาจจะเป็นปัญหาโดยธรรมชาติ เพราะถ้าถูกเลือกมาโดยคน 14 ล้านคน ได้เสียงเป็นแค่ 152 เสียง แต่คนอีกกว่า 27 ล้านคน ไม่เลือกก้าวไกล แต่เลือกพรรคอื่นๆ ได้ ส.ส. มา 340 คน ซึ่งแต่ละพรรคนโยบายต่างกัน ทางพรรคก้าวไกลบอกยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ทำสิ่งต่างๆ กับกองทัพ กับราชการ แล้วตกลงจะแก้ไขหรือจะยกเลิกมาตรา 112 จะปฏิรูปสถาบันหรือจะล้มล้างสถาบัน ไม่มีใครรู้ นี่คือ อุปสรรคโดยธรรมชาติ หากก้าวไกลมีท่าทีอ่อนลง แต่ถ้าหย่อนลง ก็ต้องถามว่าหย่อนอะไร เพราะก้าวไกลมีความต้องการนั่งในกระทรวงสำคัญหมด คนอื่นที่มาก็เป็นเพียงไม้ประดับ แต่ไม่รู้จะได้ทำงานอะไรได้

ส่วนกระแสสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลอยู่ หากสุดท้ายแล้วไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่มีนายกฯ ที่ชื่อ “พิธา” คิดว่าอาจจะนำมาสู่การลงถนนได้ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีการประกาศผ่านโซเชียล และให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติ ของหัวหน้าพรรค และใครต่อใคร ดังนั้นอาจจะทำให้เกิดการลงถนน และอาจมีความรุนแรงบ้าง ไม่ถึงกับมี ปฏิวัติรัฐประหาร แต่อาจจะมีการเข้ามารักษาความสงบ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ ก็รักษาการนายกฯ ไป มีรัฐบาลรักษาการไป ส.ว. ก็มี ก็ทำหน้าที่ไปก่อน แล้วจะปฏิวัติรัฐประหารทำไม  

ดังนั้นตอนนี้ทุกอย่างกำลังเดินไปตามกระบวนการประชาธิปไตย ไม่มีใครทำอะไรพรรคก้าวไกล ทุกคนจึงต้องมีสติ มีเหตุผล โดยเฉพาะคนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล ว่า ตัวเองเป็นหนึ่งใน 14 ล้านคน ไปลงคะแนน ทำให้ได้มาซึ่ง ส.ส. 152 คน แต่คนอีก 27 ล้านคน ไปลงคะแนนแล้ว ทำให้ได้มาซึ่ง ส.ส. 340 คน แล้วท่านจะไปบังคับพวกเขา โดยถือเสียงข้างมาก หรือพวกเขาควรจะตัดสินใจเองได้ จึงต้องทำความเข้าใจ แล้วจะพบว่า เกิดอะไรขึ้น.