เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 พ.ค. ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา บางนา ดร. ชมภารี  ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ประเทศไทยสิ้นสุดฤดูร้อนและจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในวันที่ 22 พ. ค. 66 เนื่องจากพบว่ามีฝนตกชุกหนาแน่น และต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับผิวพื้นถึงความสูงประมาณ  3.5  กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณ ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไปได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบตามเกณฑ์การเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยแล้ว

ดร. ชมภารี  ชมภูรัตน์

สำหรับปีนี้ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนจะน้อยกว่าปี 65 และจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5% (ปีที่แล้วสูงกว่าค่าปกติ 14%) ในช่วงประมาณกลางเดือนมิ.ย.ถึงกลางเดือนก.ค. จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง อาจส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่วนในช่วงเดือนส.ค.และก.ย.เป็นช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1-2 ลูก ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนม.ค.67 

ดร. ชมภารี  กล่าวต่อว่า สำหรับ ปรากฏการณ์เอนโซ มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ ในช่วงเดือน มิ. ย.ถึง ก.ค. และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือน ธ.ค.66-ก.พ.67  โดย ช่วงปลายปี พ.ย. – ธ.ค. มีโอกาส 80% ที่จะเกิดเอลนีโญระดับปานกลาง   ไปจนถึงเดือน ก.พ.67  มีโอกาสประมาณ  55% ที่อาจเกิดเอลนีโญรุนแรง  ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องไปจนหลังเดือน ก.พ.ปีหน้า ซึ่งสภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบลักษณะ อากาศของประเทศไทย มีอุณหภูมิที่สูงขึ้น  และ คาดการณ์ฝนจะน้อยกว่าค่าปกติ 5%

“กรมอุตุฯได้มีการประชุมร่วมกับทางกรมชลประทาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำไป วางแผนบริหารจัดการน้ำ และการเพาะปลูกให้กับเกษตรกร ซึ่งกรมชลประทานแจ้งว่าปริมาณน้ำในเขื่อนตอนนี้ก็ยังมีสูงเพียงพอ อย่างไรก็ตามปีหน้าอาจเข้าสู่เอลนีโญรุนแรง  จึงได้เตรียมประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร รวมถึงประชาชน ที่อยู่ในเชตชลประทานช่วยกันประหยัด ส่วนนอกเขตชลประทานก็ต้องวางแผนการใช้น้ำว่าควรเพาะปลูกช่วงไหนอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตที่ทำการเพาะปลูกที่อาจเกิดขึ้นจากขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร”