นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงการคลังไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นเป็น 37 บาทต่อลิตร จาก 32 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ว่า ที่จริงสถานการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นมาตลอด คือ ประกาศของกฎกระทรวงการคลังที่ลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งในการเตรียมการของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ต้องดูว่าสถานการณ์ในภาพรวม

สำหรับราคาน้ำมันดีเซลขณะนี้ ถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 5.43 บาท หากไม่มีการต่ออายุมาตรการจะทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นทันที ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวซึ่งจะส่งผลกระทบถึงค่าครองชีพ รวมถึงกำลังจะมีคือการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้เกิดช่วงสุญญากาศ ทั้งนี้จึงเตรียมการว่ากองทุนน้ำมันสามารถเข้าไปช่วยดูแลช่วยพยุงราคาน้ำมันให้อยู่ที่ 31.94 บาทได้หรือไม่ เบื้องต้นพบว่า สามารถทำได้เป็นเวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน ตั้งแต่ ส.ค.-พ.ย. 2566 จากสถานะกองทุนน้ำมันขณะนี้ติดลบเหลือ 6.9 หมื่นล้านบาท จากเคยติดลบสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท เวลานี้มีการกู้เงินเพื่อชำระหนี้ผู้ค้ามาตรา 7 ราว 50,000 ล้านบาท และเตรียมการอีก 20,000 บาท และไม่มีการกู้ต่อ โดยกองทุนสามารถบริหารได้ ทั้งคืนผู้ค้า จ่ายคืนดอกเบี้ยเจ้าหนี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่า หากระดับราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกผันผวนสูงจนอาจกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน เมื่อสิ้นสุดมาตรการลดภาษีฯ ดีเซล คงจะหารือกระทรวงการคลังในการนำเสนอมาตรการลดผลกระทบให้กับ ครม. เห็นชอบและยื่นให้ กกต. พิจารณาต่อไป เนื่องจากขณะนี้เป็นรัฐบาลรักษาการ  

“ยังเหลือเวลาอีก 2 เดือน ต้องมาดูกันตอนนี้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) และคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ก็ติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิดอยู่แล้วว่าจะบริหารอย่างไร แต่ปัจจัยหลักต้องดูในเรื่องของราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นสำคัญ หากไม่ได้ผันผวนสูงจนเกินไปโดยอยู่ระดับปัจจุบัน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาจนถึงต้องมีมาตรการใดๆ เพิ่มเติมมาช่วยเหลือก็เป็นไปได้”