วานนี้ (6 มิ.ย. 2566) แพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน มีการวิพากษ์วิจารณ์คดีประหลาด อันเนื่องมาจากหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่นัดเดทกัน แต่ฝ่ายหญิงพาญาติพี่น้องไปร่วมโต๊ะอาหารด้วยอีกกว่า 20 ชีวิต และสุดท้ายก็มีการฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายกัน

ต้นเรื่องนั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2563 ชายหนุ่มวัย 29 ปี ที่ระบุเพียงชื่อสกุลว่า ‘หลิว’ จากมณฑลเจ้อเจียง ได้รับการแนะนำจากแม่สื่อ ให้นัดดูตัวกับหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งระบุเพียงชื่อสกุลว่า ‘จาง’ 

ในตอนแรกที่ หลิว เลือกนัดพบกับ จาง ในร้านอาหารสุดหรู ซึ่งเป็นร้านเจ้าประจำของเขา เพราะต้องการสร้างความประทับใจให้ฝ่ายหญิง แต่เมื่อไปถึงที่นัดหมาย เขาก็ต้องตกตะลึงเมื่อพบว่า ฝ่ายหญิงนำญาติพี่น้องอีก 23 คน มาร่วมโต๊ะอาหารในครั้งนั้นด้วย และทำให้เขาแทบไม่ได้พูดคุยทำความรู้จักกับฝ่ายหญิงเลย

หลังจากที่ทั้งหมดร่วมกันดื่มกินทั้งอาหารและไวน์อย่างเต็มที่แล้ว หลิว ก็ขอตัวเข้าห้องน้ำและแอบถามค่าอาหารจากทางร้าน ซึ่งได้รับคำตอบว่า ค่าอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในมื้อนั้นไม่ต่ำกว่า 85,000 หยวน (ราว 414,903 บาท) เนื่องจากญาติ ๆ ของ จาง สั่งเหล้าและบุหรี่ราคาแพงกลับบ้านไปด้วยเป็นจำนวนมาก

ค่าใช้จ่ายครั้งนี้ทำให้ หลิว ตกใจมากจนหน้าซีด ก่อนที่เขาจะแอบหลบหนีออกจากร้านไป แล้วปล่อยให้ฝ่ายหญิงเป็นคนจ่ายเงินแทน ครอบครัวของเธอจึงตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาล

ทนายความคนหนึ่งเป็นผู้นำเรื่องราวของคดีนี้มาเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมกับบทวิเคราะห์ โดยชี้ว่า การกระทำของนายหลิว ไม่ควรถือว่าเป็นการหลบเลี่ยงการจ่ายเงิน

เขาให้รายละเอียดว่า หลังจากเกิดเหตุ จาง ได้ติดต่อกลับไปยัง หลิว โดยหวังให้เขาช่วยจ่ายค่าอาหารครึ่งหนึ่ง แต่ หลิว ยอมจ่ายให้เพียง 19,000 หยวน (ราว 92,783 บาท) ทำให้ครอบครัวของ จาง ไม่พอใจและตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาล 

หลังจากที่คดีสิ้นสุด ศาลได้ตัดสินว่า หลิว นั้นมีหน้าที่รับผิดชอบเพียงค่าอาหารสำหรับคนสองคน คือตัวเขาเองและฝ่ายหญิงที่นัดเดทเท่านั้น ซึ่งประเมินไว้ที่ 1,160 หยวน (ราว 5,658 บาท)   

ทนายผู้โพสต์ถึงคดีนี้ให้ความเห็นว่า การพาญาติพี่น้องไปร่วมโต๊ะอาหารด้วยถึง 23 คนนั้น เป็นจำนวนที่เกินจะยอมรับได้ไหวตามสามัญสำนึกของคนทั่วไป ดังนั้น หลิว จึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบค่าอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในแง่ของกฎหมาย แม้ว่าเขาจะหลบออกจากร้านเพื่อหนีการจ่ายเงินก็ตาม แต่เขาก็รู้ว่า จะมีคนในกลุ่มนั้นจ่ายค่าอาหารให้ได้อย่างแน่นอน เท่ากับว่าทางร้านก็ไม่ได้เสียผลประโยชน์ใด ๆ

ทนายความผู้นี้ยังชี้ว่า การที่ จาง ต้องจ่ายเงินค่าอาหารจำนวนมากนั้น เกิดจากการบริโภคของญาติ ๆ ของเธอเอง ยิ่งไปกว่านั้น การที่ฝ่ายชายตกลงยินยอมจ่ายค่าอาหารตามธรรมเนียมการออกเดทในจีน ก็ไม่ใช่พันธะผูกพันที่มีผลตามกฎหมาย การออกเงินเลี้ยงฝ่ายหญิงเทียบได้กับเป็นของขวัญจากฝ่ายชาย ซึ่งมีเพียงหญิงที่เป็นคู่เดทเท่านั้นที่ควรได้รับประโยชน์ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดื่มกินของคนอื่น ๆ นั้น พวกเขาก็ควรจะรับผิดชอบกันเอง

แหล่งข่าว : ettoday.net

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES