เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีหากนักการเมืองใดถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแล้วได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด จะสามารถนำรายชื่อดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ได้หรือไม่ ว่าตามปกติ การจะแต่งตั้งตำแหน่งใดก็ตามถือเป็นพระราชอำนาจ โดยกรณีแต่งตั้งข้าราชการประจำ ผู้พิพากษา อัยการ อธิบดี หรือการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้มีข้อตกลงกับสำนักพระราชวังมา 2-3 ปี แล้วให้ตรวจเข้มงวดกวดขัน ถ้ามี ก็ให้กราบบังคมทูลขึ้นไปว่ามีเหตุอย่างนี้อยู่ ส่วนจะโปรดเกล้าฯ อย่างไรก็แล้วแต่ คำตอบนี้เป็นคำตอบเดียวกัน

เมื่อถามว่าการทูลเกล้าฯ ชื่อนายกฯ ใช้หลักการนี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ใช่ครับ” เมื่อถามว่ากระบวนการที่กล่าวมาเป็นกฎหมายหรือเป็นจารีตประเพณี นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องโปรดเกล้าฯ เป็นพระราชอำนาจ เราไม่ต้องไปสงสัยอะไรแล้ว แต่เราต้องกราบบังคมทูลขึ้นไปว่าเกิดอะไรขึ้น และผู้ที่รับผิดชอบหากมีอะไรเกิดขึ้น คือผู้รับสนองพระราชโองการ กรณีเสนอชื่อนายกฯ ก็คือประธานรัฐสภา มิฉะนั้นจะรับสนองทำไม การรับสนองคือการรับผิดชอบแทน เพราะสิ่งที่ทูลเกล้าฯ ไป ต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบอย่างนั้น เหมือนกับสมัยก่อนโหวต พล.อ.อ.สมบูรณ์ ระหงษ์ เป็นนายกฯ แต่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานรัฐสภา สมัยนั้นไปเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ นายอาทิตย์ก็รับผิดชอบไป ฉะนั้นประธานรัฐสภาต้องดูแลให้ถูกต้องให้ดี ถ้าจะเบรกอะไรก็เบรกในชั้นประธานรัฐสภา

เมื่อถามว่า หากแคนดิเดตนายกฯ คนใด ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีที่มีการร้องว่ามีลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส. และแคนดิเดตนายกฯ จะนำรายชื่อนั้นไปโหวตนายกฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า “ไม่ได้” เมื่อถามย้ำว่าแม้คดีจะยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่มีคำตัดสินออกมา จะไปโหวตได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวย้ำว่า ไม่ได้ เพราะเมื่อถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้วก็เข้าไปทำหน้าที่ไม่ได้ แล้วไปตั้งทำไม และชื่อนั้นไม่เสนอเข้ามา แต่ปกติศาลจะไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เร็วเกินไป ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

เมื่อถามว่าการจะไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าบุคคลใดมีลักษณะต้องห้ามจะใช้กฎหมายใด นายวิษณุ กล่าวว่า ใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ซึ่งผู้ที่ร้องได้คือ ส.ส. จำนวน 1 ใน 10 ของสภา หรือ 50 คน ซึ่ง ส.ส. โดยจะยื่นได้หลังมีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนเรียบร้อยแล้วถึงจะทำหน้าที่ได้ ส่วน ส.ว. จำนวน 1 ใน 10 หรือ 25 คน เพราะ ส.ว. สามารถลงชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ส. ส.ว. รวมถึงรัฐมนตรีได้ โดยยื่นผ่านประธานรัฐสภา เมื่อมีการเลือกกันแล้ว และอีกช่องทางหนึ่งคือ กกต. เป็นผู้ยื่น

ต่อข้อถามว่า การที่ กกต. จะฟ้องใครด้วยความผิดตามมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะฟ้องช่องทางใด นายวิษณุ กล่าวว่า ตามมาตราดังกล่าวต้องไปช่องทางศาลอาญา และไม่มีขั้นตอนการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่มาตรา 151 เป็นที่มาของทุกเรื่อง ถูกต้องแล้วที่ไม่รับเรื่องอื่น เพราะเมื่อ 151 ออกมาแล้ว คุมหมดทุกอย่าง แต่กระบวนการนี้ใช้เวลานาน เพราะใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ