เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการคุรสภา กำลังดำเนินโครงการงานระบบบริหารจัดการองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาความลุ่มลึกทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการออกแบบ สร้างระบบ ในรูปแบบแพลตฟอร์ม (Platform) หรือ การบริหารจัดการขององค์ความรู้ที่ผ่านการสังเคราะห์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์แนวโน้มการศึกษา หรือ เทรนด์การศึกษาในปัจจุบัน โดยกำหนดขอบข่ายเป้าหมายขององค์ความรู้ที่จะนำมาบรรจุไว้ในแพลตฟอร์ม 7 เป้าหมาย ดังนี้ 1. ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล วิทยาการคำนวณ (Digital literacy & Computing Science) 2. การจัดการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematics) 3. การจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Science) 4. การจัดการเรียนรู้ในวัยเด็กตอนต้น หรือปฐมวัย (Early Childhood) 5.การจัดการเรียนรู้ หรือพัฒนาทักษะด้านการอ่าน และการเขียน (Reading & Writing) 6. การปฏิรูปโรงเรียน (School Reform) และ 7. ทักษะชีวิตและคุณลักษณะพึงประสงค์ (Life skill) เบื้องต้นมีจำนวนองค์ความรู้ 105 เรื่อง

เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า การสังเคราะห์องค์ความรู้ดังกล่าวจะมาจากฐานข้อมูลของคุรุสภา (KSP Knowledge Bank) ในเรื่องนวัตกรรมที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีของเครือข่ายการจัดกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ผลงานหนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรม ระดับประเทศ รางวัลเหรียญทอง ปี 2561-2563 และผลงานวิจัยคุรุสภา “ระดับประเทศ” รางวัลดีเด่น ปี 2561-2563 นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน นำองค์ความรู้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นความรู้ที่ชัดแจ้ง และความรู้ฝังลึกที่ผ่านการสกัดแล้วว่ามีความสำคัญและมีประโยชน์ มาจัดเก็บไว้ในแพลตฟอร์ม และเผยแพร่ให้ครู ผู้บริหารการศึกษา และผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา สามารถนำไปใช้ได้เลย และที่สำคัญจะนำองค์ความรู้จากการดำเนินงานของกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาจรรยาบรรณวิชาชีพ ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ethics in Professional Learning Community หรือ E-PLC) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้เตรียมเข้าสู่วิชาชีพทางการศึกษา ที่ได้จากการปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งเป็นการทำงานที่ผ่านการวิจัยในภาคสนามระดับรากหญ้าและสามารถนำการวิจัยมาใช้ในการจัดการองค์ความรู้ได้เป็นอย่างดีมาบรรจุไว้ในแพลตฟอร์มนี้ด้วย “ขณะเดียวกันสำนักงานเลขาธิการคุรุสภายังได้ส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาความลุ่มลึกผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC ผ่าน Zoom Video Webinar ซึ่งถือเป็นกระบวนการถ่ายทอดและสนับสนุนให้ผู้ร่วมวิชาชีพได้รับรู้ เข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านองค์ความรู้ที่จัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้แวดวงวิชาชีพทางการศึกษาเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง ทั้งนี้ คุรุสภาได้ตั้งเป้าหมายว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับองค์ความรู้ต่างๆที่เราเก็บไว้ จากเดิมเราจะเก็บองค์ความรู้ไว้ในรูปเอกสาร ซึ่งทำให้เวลาจะใช้ก็หายากมาก แต่เมื่อมีการเก็บองค์ความรู้เป็นระบบแล้ว จะทำให้การใช้งานง่ายขึ้นอยากจะหาข้อมูลอะไรแค่ปลายนิ้วสัมผัสก็เรียกออกมาใช้ได้เลย ซึ่งจะทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าใช้งานมีความพึงพอใจ ได้รับการพัฒนาตนเอง และสามารถสร้างองค์ความรู้ต่อยอดได้“ ดร.ดิศกุล กล่าว.