ปฎิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ คนดูทีวีน้อยลง ไม่ได้เกาะติดหน้าจอทีวีเหมือนในอดีต แต่หันมา “เสพคอนเทนต์” ต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์ม บนมือถือมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยูทูบ (YouTube) แพลตฟอร์มการสตรีมวิดีโอ ที่ครองอันดับ 1 ในใจของคนไทย และได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของหลายคนไปแล้ว เพราะเป็นเสมือนคลังคลิปวีดีโอ ที่มีคอนเทนต์ ที่หลายหลาย  ไม่ว่าจะเป็น ข่าวสาร เพลง  บันเทิง รวมถึงมีช่องยูทูบต่างๆที่เกิดขึ้นจาก การผลิตคอนเทนต์ ของ เหล่ายูทูบเบอร์ ฯลฯ

โดยข้อมูลเมื่อปี 65 นั้น ทางครีเอเตอร์ หรือ ยูทูบเบอร์ มีการสร้างสรรค์คคอนเทนต์เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% และมีช่องของยูทูบเบอร์ ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน ถึง 750 ช่อง  เพิ่มขึ้นจากปี 64 ถึง 20% การเติบโตที่เพิ่มขึ้น มาจากการมีระบบนิเวศน์ที่เข้มแข็ง และมีเนื้อหา และความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ไม่ได้มาจากเหล่าครีเอเตอร์ เท่านั้น แต่ปัจจุบัน ช่องโทรทัศน์เจ้าใหญ่ แต่ยังรวมถึงบุคคลในวงการโทรทัศน์ โปรดักชันเฮาส์ ค่ายเพลง ศิลปิน ต่างก็มาใช้ ยูทูบ เป็นช่องทางในการเข้าถึงฐานคนดู และสร้างรายได้อีกทาง!?!

ภาพ pixabay.com

แน่นอนว่าจากคอนเทนต์ที่ถูกอัพโหลดใหม่ๆทุกวัน ทางยูทูบต้องลงทุน และทำงานอย่างหนักในการ เพิ่มการรักษาความปลอดภัยและดูแลแพลตฟอร์มให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

โดยหนึ่งในเครื่องมือ คือ การกำหนดมาตรฐานชุมชน ซึ่งคอนเทนต์ที่อัพโหลด ขึ้นไปจะต้องมีเนื้อหาไม่ขัดกับ คอมมูนิตี้ ไกดไลน์  เช่น สร้างความเกลียดชัง การล่วงละเมิด  เนื้อหาเกี่ยวกับเพศ ความรุนแรง สแปมและการหลอกลวง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันยังมีคอนเทนต์บางส่วน ที่อาจมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะกับ เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะปัจจุบันเด็กๆ ติดมือถือ และดูคอนเทนต์ผ่านยูทูบกันมาก ซึ่งคนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองอาจมีความกังวล ถึงการเข้าถึงเนื้อหา!!

และบางคนอาจยังไม่รู้ว่า ยูทูบได้มีฟีเจอร์ สำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยรุ่น และวัยรุ่น โดยครอบครัวที่มีเด็กเล็ก สามารถใช้ YouTube Kids ที่สร้างมาเพื่อมอบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยกว่าให้เด็กๆ โดยผู้ปกครองจะมีเครื่องมือในการปรับแต่งการใช้งาน ให้เหมาะสม

โดย แอป YouTube Kids จะมุ่งเน้นวิดีโอคุณภาพสูงที่มีคอนเทนต์เหมาะสมกับวัยของเด็กๆ ซึ่งมีตัวเลือกระดับ เนื้อหาตามอายุ 3 ระดับ คือ เด็กก่อนวัยเรียน เด็กเล็ก และเด็กโต นอกจากนี้ผู้ปกครองยังสามารถเลือกวิดีโอ ช่อง และ เนื้อหาที่ต้องการให้เด็กๆ ดูเองได้เช่นกัน!!

ขณะเดียวกันหากครอบครัวมีเด็กๆ ที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นหรือเป็นวัยรุ่น  หากผู้ปกครองเห็นว่า เด็กๆที่อยู่ ในการดูแลปกคอรง พร้อมที่จะใช้ ยูทูบ ด้วยบัญชีที่มีการควบคุมดูแล ทางผู้ปกครองสามารถ ลิงก์บัญชี กูเกิล ของบุตรหลานกับบัญชีของเรา

แล้วทำการเลือกการตั้งค่าเนื้อหา ซึ่งจะมีการจัดประเภทเนื้อหาสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่นและเด็กโต  และ ในบัญชีที่มีการควบคุมดูแลนี้  จะปิดหลายฟีเจอร์ เช่น ความคิดเห็นและแชทสด รวมถึงการสร้างช่อง การอัปโหลดเนื้อหา และการซื้อสินค้า ฯลฯ

นอกจากนี้ระบบจะมีการตั้งค่าเริ่มต้นเพื่อแจ้งเตือนเวลาพักและเวลาเข้านอนไว้ด้วย  โดยสามารถปรับเปลี่ยน เมื่อเด็กๆ สามารถแบ่งเวลาอยู่หน้าจอให้เหมาะสมได้ด้วยตัวเอง  ซึ่งการใช้งานบัญชีที่มีการควบคุมดูแลนี้ จะรวมถึงการใช้ YouTube Music ด้วย

อย่างไรก็ตามยังมีฟีเจอร์ ช่วยเตือน “เวลาเข้านอน” และ “พักสายตา” ในการตั้งค่าจะเตือนให้ผู้ใช้งานหยุดดูวิดีโอ ไม่ว่าจะในขณะที่วิดีโอกำลังเล่นหรือเล่นจบแล้วก็ตาม  และหากสงสัยว่า เราดูเนื้อหาบนยูทูบ ไปมากเท่าใดแล้ว ก็สามารถ เข้าสู่ระบบยูทูบ แตะรูปโปรไฟล์ จากนั้นแตะ “เวลาที่ใช้ในการดู”  ซึ่งช่วยให้เราสามารถใช้ เวลาออฟไลน์ออกจาก โลกอินเทอร์เน็ตได้

และหากเราต้องการการควบคุมที่มากขึ้น เรายังสามารถจัดการข้อมูลของเรา ได้ โดยให้เข้าไปที่ ฟีเจอร์ข้อมูลของเราในยูทูบ เพื่อดู ลบ หรือหยุดบันทึกประวัติการดูและการค้นหา โดยระบบจะไม่แนะนำวิดีโออีกต่อไป และคำค้นหาก็จะไม่แสดงเป็นคำค้นหาที่แนะนำในแถบค้นหา

นอกจากนี้การใช้งานยังมีโหมดไม่ระบุตัวตน ซึ่งสามารถใช้โหมดนี้ ในแอปบนอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือเบราว์เซอร์ Chrome ซึ่งจะช่วยให้การใช้งานมีความเป็นส่วนตัว โดยระบบจะไม่บันทึกประวัติการดูและการค้นหาไป ยังบัญชีที่เรา เข้าสู่ระบบอยู่

ภาพ pixabay.com

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญอีกอย่างที่สำคัญสำหรับการใช้งานบัญชี ทางกูเกิล ได้มีเครื่องมือตรวจสอบ ความปลอดภัย ของข้อมูลและอุปกรณ์บนแพลตฟอร์ม โดยรวมถึงยูทูบ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเปิดการยืนยันแบบ 2 ขั้นตอน ตรวจสอบ ความรัดกุมของรหัสผ่าน และจัดการแอปของบุคคลที่สามที่สามารถเข้าถึงข้อมูลบัญชีของเราได้

สุดท้ายแล้ว ยูทูบยังได้ระบุว่า ทาง “ยูทูบ” จะไม่มีการขอรหัสผ่าน อีเมล หรือข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับบัญชีของเรา  และอย่าหลงเชื่อหากมีผู้ติดต่อมาหาและแอบอ้างว่ามาจากยูทูบ  

เพราะนั้นคือ วิธีการที่แฮ็กเกอร์แฝงตัวมา เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญของเรา อาทิ ข้อมูลทางการเงิน หมายเลขบัตรเครดิต เพื่อนำไปใช้ให้เกิดความเสียหายกับเจ้าของข้อมูลได้!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์