เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่อาคารไทยซัมมิท แกนนำพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย นัดหารือ 2 พรรค ก่อนการหารือ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่จะมีการหารือตามนัดหมาย จากนั้นเวลา 18.30 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงผลสรุปการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ ว่า สำหรับการหารือ 8 พรรคในวันนี้ มีข้อสรุปอยู่ 3 ข้อ ที่ต้องการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนไปยังประชาชน  คือ เรื่องวันที่ 19 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ทั้ง 8 พรรค ก็มีมติส่งตน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดินเดตนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย และหลังจากนั้นได้มีโอกาสหารือกันเกี่ยวกับการยื่นแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ของพรรคก้าวไกล ว่าเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้เสนอโดยพรรคก้าวไกลเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอีก 7 พรรคที่เหลือ ส่วนเรื่องสุดท้ายก็อาจจะเป็นเรื่องของข้อบังคับที่ 41 ของรัฐสภา ที่มีข่าวออกมาว่า ส.ว. จะตีแบบนี้ และมีความเห็นในทางกฎหมายว่าไม่น่าจะเข้า เป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบังคับแต่อย่างใด ก็ไม่ถือว่าเป็นญัตติเป็นการเสนอผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งอาจจะมองเห็นต่างกับทาง ส.ว.ในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังเตรียมเรื่องของรายละเอียดที่จะเข้าสู่วันที่ 19 ก.ค.นี้  

เมื่อถามว่าตั้งหลักอย่างไรหากเสียงวันที่ 19 ก.ค.ไม่พอ นายพิธา กล่าวว่า ตามที่เคยแถลงผ่านวิดีโอไป ว่าสำหรับสมรภูมิแรก หากคะแนนไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เราก็พร้อมที่จะถอยให้ประเทศชาติ และพรรคอันดับ 2 ที่อยู่ในเอ็มโอยูเดิมของ 8 พรรคร่วมก็คือพรรคเพื่อไทย แต่ในขณะเดียวกันเรื่องของมาตรา 272 ที่ยื่นเข้าไปก็ดำเนินการภายใน 15 วัน และยืนยันว่าเป็นการดำเนินการของพรรคก้าวไกลเพียงพรรคเดียวไม่ได้ผูกพันกับพรรคอื่น  

เมื่อถามว่าหากในวันที่ 19 ก.ค. ถ้าเกิดมีการตีความในรัฐสภากันว่าเข้าข้อบังคับที่ 41 ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ ทาง 8 พรรคจะดำเนินการอย่างไรในวันนั้น นายพิธา กล่าวว่า วันนี้เราก็มีข้อสรุปในเชิงเกี่ยวกับการตีเชิงกฎหมายในฝั่งของเรา วันที่ 18 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมวิปอีกทีหนึ่ง ถ้ามีโอกาสได้ประชุมวิปก็อาจจะเห็นตรงกันว่าญัตติก็คือญัตติ ซึ่งเป็นเรื่องของข้อบังคับ แต่การเสนอนายกฯ เป็นคนละโหมดกันและเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญไม่สามารถตีความแบบนี้ได้  

ต่อข้อถามว่าถ้าไม่เป็นเหมือนที่เราคิดมีแผนสำรองรองรับอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า  เดี๋ยว ต้องรอฟังทางวิป เหตุและผลของฝั่งตรงกันข้ามเป็นอย่างไร เห็นแต่พาดหัวไม่ได้ลงรายละเอียดว่าเหตุผลอะไรถึงได้คิดว่า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องญัตติได้ มันคนละเรื่องกัน  

สำหรับประเด็นการถอยเรื่องมาตรา 112 นายพิธา กล่าวว่า  เรื่องมาตรา 112 ก็เป็นเรื่องที่เซนซิทีฟและสำคัญ แต่ว่าไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะถ้าเรื่องนี้พอหายไป เรื่องอื่นก็จะมาอีก ที่สำคัญที่สุดตนต้องการรักษาคำพูด ก่อนหาเสียงพูดไว้อย่างไร หลังหาเสียงก็ไม่ใช่ว่าต้องการที่จะเข้าสู่อำนาจในทุกวิถีทาง.