เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร เลขานุการคณะพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และในฐานะรอง ผอ.กองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ (กทศ.) กล่าวว่า ภายหลังวานนี้ (17 ก.ค.) ได้มีการประชุมร่วมกับคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน มีความคืบหน้าดังนี้ ในวันที่ 20 ก.ค. พนักงานสอบสวนดำเนินการเรียกเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจาก นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยดีเอสไอได้เรียกเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรให้เข้ามาในฐานะผู้กล่าวหา เพื่อเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติม นอกจากนี้ ตนยังได้ตรวจสอบพยานเอกสาร สำนวนคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แหลมฉบัง เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งเป็นเอกสารที่มีการบันทึกคำให้การของพยานบุคคลต่างๆ แต่พบว่ายังขาดเหลือประเด็นเพิ่มเติม ซึ่งตนจำเป็นต้องใช้ข้อมูลรายละเอียด อาทิ การสอบถามผู้กล่าวหาถึงการนำเข้าสินค้าว่านำเข้าโดยบริษัทใด ประกอบด้วยตู้คอนเทเนอร์หมายเลขเท่าไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งตนเข้าใจว่าคดีหมูเถื่อน ถือเป็นคดีที่ต้องใช้ความเฉพาะทาง เพราะการพิจารณาความผิดจะไปเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ตนจึงต้องใช้ข้อมูลที่ครบถ้วนในทุกมิติ เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินการทางคดีอาญาในอนาคต ดังนั้นดีเอสไอจึงต้องมีการเรียกพยานบุคคลดังกล่าว เข้าให้ข้อมูลซ้ำอีกครั้ง

สำแดงเท็จ! จ่อร่อนหมายเรียก 11 ชิปปิ้งเอกชนเอี่ยวขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน

ร.ต.อ.ชาญณรงค์ เผยอีกว่า สำหรับขั้นตอนการสอบปากคำหลังจากนี้ อันดับแรก ดีเอสไอจะดำเนินการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ศุลกากร ในฐานะผู้กล่าวหาก่อน เพราะคำให้การของผู้กล่าวหาจะพาเราไปสู่บุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประเด็นจำนวนบริษัทที่รับหน้าที่นำเข้าสินค้าเนื้อสุกรแช่เเข็ง, แต่ละบริษัทที่นำเข้ามีการว่าจ้างบริษัทสายเรือใดบ้าง, บริษัทสายเรือที่รับจ้างนำเข้าได้รับการว่าจ้างจากบริษัทใด เป็นต้น ส่วนอันดับที่ 2 ดีเอสไอจะดำเนินการสอบปากคำผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร เนื่องจากเป็นสำนักที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการนำเข้า-ส่งออกสินค้าโดยตรง ในประเด็นกฎ กติกา มารยาทในการนำเข้า-ส่งออกเป็นอย่างไร รวมถึงพิกัดของเนื้อสุกรเหล่านี้ โดยตรงนี้จะถือว่าเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญให้กับทางศาลได้ และในตอนนี้ ตนจะไล่คำให้การของผู้กล่าวหา คำให้การของสายเรือ อีกทั้งในกรณีของผู้นำเข้าสินค้า เป็นบริษัทภายในประเทศไทย จำนวน 10 แห่ง และเป็นบริษัทของต่างประเทศอีก 1 แห่ง เบื้องต้นจะเป็นการให้การในฐานะพยานก่อน ซึ่งเราจะทำเป็นขั้นตอน และจะมีความคืบหน้าทุกสัปดาห์

ร.ต.อ.ชาญณรงค์ เผยด้วยว่า ในระหว่างช่วงที่เราเร่งรัดตรวจสอบตู้คอนเทเนอร์ มี 2 บริษัทที่มาขอออกของ จึงต้องใช้สอบถามเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรว่า ในสองบริษัทนี้ ถือว่าเป็นการผิดกฎหมายมาตราเดียวกับตู้คอนเทเนอร์ 159 ตู้หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรในฐานะผู้กล่าวหา จะต้องเป็นคนยันในคำให้การ

ทั้งนี้ ร.ต.อ.ชาญณรงค์ เผยถึงการพิจารณาความผิดเบื้องต้นว่า การลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้นั้น ซึ่งเป็นของควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และจากการตรวจสอบพบว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ จึงเป็นการนำเข้าโดยฝ่าฝืนมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อันเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัด ตามมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ส่วนภายหลังการสอบสวนจะเข้าองค์ประกอบความผิดอื่นด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำให้การและพยานหลักฐานหลังจากนี้.