และวันที่ 19 ก.ค. นี้ จะโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งก็คิดว่า คงวุ่นวายอลเวงพอสมควร จะมีคนหารือตีความข้อประชุมสภา ข้อที่ 41 เรื่องที่ว่า “ญัตติเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล เป็นญัตติเดิม จะเสนอซ้ำไม่ได้อีก นอกจากสมัยประชุมหน้า” แล้วก็ตีความรัฐธรรมนูญ ม.272 วรรคสอง คนแรกเสนอไม่ได้ก็เสนอใหม่

และวันที่ 19 ก.ค. ที่เป็นวันโหวตเลือกนายกฯ ก็มี “จังหวะอะไรก็ไม่รู้” ขึ้นมาอีก ตรงที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีมติรับหรือไม่รับพิจารณาว่า นายพิธาขาดคุณสมบัติ ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นสื่อ หรือ/และมีโอกาสให้เจ้าตัวต้องโดนพักงานก่อนรอศาลวินิจฉัย แต่ระหว่างนั้นก็โหวตนายกฯ ต่อไปได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยสถานะ ส.ส.

แต่ปัญหาคือ ถ้าศาลวินิจฉัยแล้วว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ม.93 (3) ขึ้นมา ก็คงจะต้องหลุดจากการเป็นนายกฯ ด้วย เนื่องจากคุณสมบัติของนายกฯ ก็ล้อกับคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญ แล้วจะไปพันกับคดีที่ศาลฎีกานักการเมืองอีก คือคดีรู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติแล้วสมัคร ส.ส. ผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151

จะหาเสียงก็ยากรากเลือด แม้ว่าก่อนหน้านั้น นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมายืนยันว่าได้เสียง ส.ว. พอ แต่ผลออกมาก็เป็นที่รู้กัน จึงเป็นที่มาของข่าวที่ว่า เริ่มมีการไปดีลพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เพื่อขอเสียงสนับสนุนแล้ว ส่วนเรื่อง ม.112 จะ “ลดเพดาน” ลง เช่นการให้ทำประชามติก่อนการแก้ไข ข่าวว่า ไม่ดีลเป็นพรรค ก็ดีลเป็นคนๆ เลยทีเดียว

วันนี้พรรคก้าวไกลกระแสดี เงื่อนไขการดีลรายคนคือ จะให้ลงสมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล แต่พอมาถึงเรื่อง ม.112 ก็เสียวๆ กันอีกล่ะว่า “ทำประชามติได้หรือไม่” เพราะกฎหมายประชามติต้องไม่ทำเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เลยต้องย้อนกลับไปว่า ผู้เสนอทำประชามตินั้น (ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล) จะโดนข้อหาขัดรัฐธรรมนูญ ม.49 หรือไม่อีก

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็เริ่มแสดงท่าทีบางอย่างที่ลองดูแล้วคิดเอง เช่น การที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาแสดงความไม่พอใจที่พรรคก้าวไกลยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ให้ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ทำนองว่า “ยิ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เขาเกลียด” และ วาระของพรรคร่วมควรรีบตั้งรัฐบาล ไม่ใช่จะเอาแต่วาระก้าวไกล

ขณะที่มีรายงานข่าวว่า ในการประชุมจะมีการหารือหนักเรื่องข้อบังคับการประชุมนี่แหละ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ดันเห็นว่า การเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ ต้องตกไป เพื่อไทยเขาก็มีแผนแล้วว่าจะเสนอใหม่เป็นชื่อ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ขึ้นเป็นแคนดิเดต และไม่รู้ว่า พรรครัฐบาลปัจจุบันจะเสนอใครประกบหรือไม่

หรือไม่ก็ถ้า 19 ก.ค. เกิดเหตุให้องค์ประชุมล่ม ก็พร้อมเสนอชื่ออีกครั้งในสัปดาห์ถัดไป แต่ทีนี้ ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจริงๆ ระวังจะเกิดการ “พลิกขั้ว” ที่โยนพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน (อาจร่วมกับพรรคไทยสร้างไทย) และเกิดการจับขั้วระหว่างเพื่อไทยกับพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันบางพรรคอย่างพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เพื่อไทยเน่าตายในสมัยเลือกตั้งหน้า แม้สุดท้ายแล้วเก้าอี้นายกฯ จะส้มหล่นใส่ “เสี่ยนิด” แต่ต้องถือหลักในการที่มีก้าวไกลร่วมรัฐบาล เนื่องจากคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตก็บอกว่าประชาชนคาดหวังความเปลี่ยนแปลงอย่างไร เอาพรรคร่วมรัฐบาลเก่ามาช่วย เสียงก็น่าจะทำได้ส่วนหนึ่ง การเมืองดีลประโยชน์ลงตัวอะไรก็ง่าย

ก้าวย่างของเพื่อไทย นี่ต้องระวังกว่าก้าวไกล เพราะตอนนี้ด้อมส้มแรงมาก.