เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมายอิสระ และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความระบุว่า

เสียง ส.ว. 250 แตกแล้ว!!!!

1.ส.ว. ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้ง และจากการเลือกของ คสช. รวม 250 คน เป็นทุนการเมืองในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้การเลือกตั้งปี 2562 แม้ฝ่ายรัฐบาลจะมีเสียงน้อยกว่าแต่นักการเมืองก็รู้ดีว่าทุนการเมือง 250 ส.ว. จะโหวตให้กับพลเอกประยุทธ์ ดังนั้นจึงมาเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมอย่างง่ายดาย

แต่มาถึงวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เสียง ส.ว.250 เปลี่ยนไปแล้ว เห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์ความขัดแย้ง และความรุนแรงถึงขั้นที่มีการขับ ส.ว. ท่านหนึ่งออกจากห้องประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

2.โครงสร้างของ ส.ว. มี 3 กลุ่ม

– กลุ่มคณะนักร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สืบทอดตำแหน่งกันมาอย่างยาวนาน ราว 25 คน

– กลุ่มที่ คสช. ตั้งเอง จำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ก็แบ่งเป็นอีก 2 กลุ่ม

– กลุ่ม ส.ว. ที่เลือกตั้งมาจากจังหวัดต่าง ๆ และ คสช. เลือกแต่งตั้งตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส.ว. กลุ่มหลังนี้เป็นสมัครพรรคพวกหรือคุ้นเคยกับนักการเมืองในจังหวัดนั้น ๆ

3.ส.ว. ทั้ง 250 คน จึงไม่ใช่น้ำเนื้อเดียวกัน มีกลุ่ม มีพวก และมีสังกัด ตลอดจนที่มาดังว่านั้น แต่ที่ผ่านมา ตอนเลือกนายกฯ ยังใหม่สดอยู่ เสียงจึงเป็นเอกภาพ

แต่เมื่อการเมืองภายในรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป และกระแสสังคมที่ไม่เอารัฐบาลก็เพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจ และ ส.ว. จำนวนหนึ่งก็มีสำนึกผิดชอบชั่วดีอยู่ ไม่ประสงค์ที่จะสร้างกรรมทำเข็ญแก่บ้านเมืองต่อไป จึงเกิดความขัดแย้งภายในขึ้น ทำให้การแตกแยกกลุ่มเพิ่มขึ้นและชัดเจนขึ้น

4.ส.ว. ชุดนี้จะเลือกนายกฯ ได้อีกครั้งเดียว จากนั้นก็จะหมดวาระแล้ว บรรดาพรรคการเมือง และนักการเมืองทั้งหลายจึงเห็นเป็นโอกาสดึงเข้ามาเป็นพวก ซึ่งง่ายกว่าส่งคนลงสมัคร ส.ส. แต่ก็มีเสียงเลือกนายกฯ เท่ากับ ส.ส.

ดังนั้น จึงมีการดึง ส.ว. เข้ามาเป็นพวก และแย่งกันดึงอุตลุด ทำให้ความขัดแย้งยิ่งแตกเป็นเสี่ยงมากขึ้น และทำให้เสียง ส.ว.ในการเลือกตั้งนายกฯ ครั้งหน้าไม่เป็นเอกภาพ ใครเป็นพวกพรรคการเมืองไหนก็คงลงคะแนนให้กับแคนดิเดทนายกของพรรคนั้น ซึ่งจะหวังให้ทั้ง 250 คน โหวตให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ เหมือนปี 2562 นั้นเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว

5.เพราะเหตุนี้ แม้ยังไม่มีการเลือกตั้ง แต่ก็รู้กันแล้วว่านายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งจะเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อ และมีผลต่อคะแนนเสียงทั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์ และแบบเขตเลือกตั้งด้วย 

ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนอกจากสาเหตุอื่น ๆ แล้ว อย่างช้าที่สุดหลังเลือกตั้งการเมืองย่อมเปลี่ยนแปลงแน่นอน และนี่อาจเป็นที่มาที่พลเอกประยุทธ์ที่พูดว่า

“จะไม่เป็นนายกฯ จนตายคาเก้าอี้”

ซึ่งเป็นท่าทีที่แปลกใหม่ ไม่เคยปรากฏมาก่อน และทำให้ต้องจับตาดูว่าพลเอกประยุทธ์ จะมีแผนลงจากหลังเสืออย่างปลอดภัยได้อย่างไร?