เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 20 ก.ค. ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ว่า มติเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ตีความว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติที่ไม่สามารถเสนอซ้ำได้ในสมัยประชุมเดียวกันได้ ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซ้ำเป็นรอบสอง ว่า ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะจะผูกมัดต่อไปในอนาคต แต่จะเป็นเพียงการผูกมัดแค่มาตรา 272 เมื่อเปลี่ยนไปใช้มาตรา 159 แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ข้อผูกพันนี้จะลดไป อย่างไรก็ตาม ทราบว่าเบื้องต้นเลขาธิการของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลพูดคุย เราก็รอจะมีการนัดหมายเมื่อใด 

ผู้สื่อข่าวถามถึง ความคิดเห็นของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่เห็นด้วยข้อบังคับการประชุมใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ว่า นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ไม่เห็นด้วยกับผลการลงมติของรัฐสภา และยังแนะนำว่า ใครเห็นว่าถูกละเมิดสิทธิ สามารถไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้

เมื่อถามว่า วันนี้ใช้คำว่าเพื่อไทยต้องรอพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียวได้ใช่หรือไม่ หัวหน้าพรรค กล่าวว่า ต้องรอในฐานะที่เป็น 8 พรรคร่วม การตัดสินใจและท่าทีอยู่ที่พรรคก้าวไกลก่อน เมื่อถามย้ำว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยไม่ปล่อยมือพรรคก้าวไกลใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ขณะนี้ยัง… ยังอยู่”

เมื่อถามถึงการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปจะต้องเป็นของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อยู่ที่การหารือที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยจะรอนัดหมาย อาจเป็นวันที่ 20 ก.ค. หรือวันที่ 21 ก.ค. ก็แล้วแต่เขาจะนัดหมายกัน

เมื่อถามต่อว่า แกนนำพรรคก้าวไกลหลายคนไม่พอใจการทำงานของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่มีใครพอใจ ส่วนตัวก็ไม่พอใจเหมือนกัน จะเสนอญัตติโดยใช้เสียงข้างมากธรรมดาโดยไม่มีช่องทางที่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แต่เมื่อออกมาเช่นนั้นก็ต้องยอมรับ เพราะเราปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบบรัฐสภา ระบบเสียงข้างมาก ก็ต้องยึดถือ เพียงแต่ว่าสิ่งหนึ่งที่อาจมีความแคลงใจ คาใจและไม่พอใจ คือเสียงข้างมาก ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม และจะทำให้ระบบรัฐสภามีปัญหาแน่นอน แต่บทเรียนครั้งนี้ สามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขได้ เมื่อหมดวาระของ สว. ในวันที่ 11 พ.ค. 67 เรามีความชอบที่จะแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนำเรื่องการให้ความเห็นชอบนายกฯ มากำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภา อะไรที่เป็นข้อจำกัดในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาไปบัญญัติไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาแทน

เมื่อถามถึง ความเป็นห่วงว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ในสมัยประชุมเดียวกันนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เมื่อข้อบังคับถูกวินิจฉัยเช่นนี้ทุกคนเป็นห่วง ถ้าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตกภาระลำบาก

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยห่วงว่าถ้ายังจับกับพรรคก้าวไกลแล้วเสนอชื่อนายกฯ รอบ 3 หรือรอบต่อๆ ไปจะไม่ผ่านเหมือนกันใช่หรือไม่  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เสนอชื่อซ้ำก็ห่วงทุกมิติ ถ้าเขาเห็นว่าเราไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทุกคน ก็ยากมากที่จะฝ่าด่านไปได้ ดังนั้นหลักการคือพรรคแกนนำไม่ว่าพรรคใด ต้องแสวงหาความมั่นใจว่าเสนอไปแล้วจะผ่าน ไม่มีใครรบบนสมรภูมิที่แพ้ แล้วจะรบอีก เพราะเราก็จะเสียคนของเราไปด้วย โดยเฉพาะถ้าเรามีเพียงคนเดียว เราเสนอไม่ได้อีก มันก็จบ นี่คือปัญหา

เมื่อถามถึง กระแสข่าวพรรคก้าวไกลจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สมควรยื่น อะไรที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญควรดำเนินการ เมื่อถามว่าหากพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี แต่ยังจับขั้วกับพรรคก้าวไกล ชื่อที่พรรคเพื่อไทยเสนอก็จะไม่ผ่าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ข่าวก็คือข่าว ต้องรอพิสูจน์ว่าข่าวนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กรณีถ้าถึงคิวที่พรรคเพื่อไทยเป็นคนเสนอ คงไม่รอให้ชื่อของเราไม่ผ่าน ถ้ารอมติตรงนั้น เราก็แพ้อย่างเดียว

“ผมสงสารก้าวไกลที่ใช้ประเด็นเหล่านี้มาเป็นเงื่อนไข ขณะนี้ไม่ใช่แค่ มาตรา 112 แล้วพรรคเพื่อไทยไม่มีความคิดก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพของพรรคก้าวไกล เราเป็นพรรคร่วมก็จริง การที่บอกว่าคุณไปลดหน่อยโน้นนี่นั่น เราไม่มีสิทธิ อยู่ที่การตัดสินใจของพรรคเขา” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว.