กรณี นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อบุคคลและนิติบุคคล ซึ่งมีส่วนร่วมในขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็ง หรือ หมูเถื่อน 161 ตู้คอนเทเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ทั้งยังมีพฤติการณ์การสำแดงเท็จเนื้อหมูดังกล่าวเป็นอาหารแช่แข็งและไม่ผ่านพิธีการศุลกากร เป็นเหตุให้ผลการประเมินราคาสินค้าทั้งหมดมีมูลค่าราคารวมค่าภาษีอากร รวมเป็นเงิน 460 ล้านบาท ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ต่อมาพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการเรียกเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมในฐานะผู้กล่าวหา ก่อนนำคำให้การประกอบ เป็นส่วนหนึ่งของพยานหลักฐานในคดี ตามที่ได้มีการรายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น

DSI เรียกศุลกากรให้ข้อมูล ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน 20 ก.ค.นี้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน พร้อมด้วย ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร เลขานุการคณะพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และในฐานะรองผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ (กทศ.) และ พล.ต.ท.วัลลภ ประทุมเมือง ที่ปรึกษาคดีพิเศษ ร่วมกันสอบปากคำเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ในฐานะผู้กล่าวหาเอาผิดขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่เเข็ง 161 ตู้คอนเทเนอร์

ภายหลังการสอบปากคำเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเสร็จสิ้น พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน เปิดเผยว่า จากการพูดคุย เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทเดินเรือ บริษัทนำเข้าสินค้ารวมถึงขั้นตอนวิธีการนำเข้าของสินค้าเป็นอย่างไร อีกทั้งยังชี้แจงเอกสารว่าการนำเข้าสินค้าในลักษณะนี้เข้าข่ายผิดกฎหมายในส่วนใดบ้าง ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทางสินค้า (เนื้อสุกรแช่แข็ง) ว่ามีการนำเข้ามากักไว้ตั้งแต่ช่วงเวลาใด และบริษัทนำเข้าสินค้าแต่ละแห่งเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทเนอร์ทั้ง 161 ตู้อย่างไรบ้าง

พ.ต.ต.ณฐพล เผยอีกว่า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับความถี่ จำนวนครั้งของการนำเข้าสินค้าเนื้อหมูเหล่านี้ของบริษัทแต่ละแห่ง ก่อนพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะนำไปพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด หรือผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ว่าในการนำเข้าแต่ละครั้งมีบริษัทใดเข้ามาเกี่ยวข้องในขั้นตอนใดบ้าง เนื่องจากตู้คอนเทเนอร์บรรจุเนื้อสุกรแช่แข็งทั้ง 161 ตู้ดังกล่าว ไม่ได้ถูกนำเข้าราชอาณาจักรในครั้งเดียว แต่เป็นการกระทำของบริษัทแต่ละแห่ง อาทิ บริษัทแห่งหนึ่งนำเข้า 1-2 ครั้ง บางบริษัทนำเข้า 3 ครั้ง บางบริษัทนำเข้าเกือบ 20 ครั้ง เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าที่ผ่านมา เป็นพฤติกรรมทยอยนำเข้าเนื้อหมูมาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม-เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2565 และเป็นสินค้าคงค้างที่ท่าเรือ ไม่มีบุคคลมาสำแดงสินค้า จากนั้นพนักงานสอบสวนจะใช้ข้อมูล พยานเอกสาร คำให้การเหล่านี้ของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไปตรวจสอบ แสวงหาข้อเท็จจริงว่าบริษัทแต่ละแห่งมีขั้นตอนนำเข้าเนื้อหมูอย่างไร และในวันเวลาที่นำเข้ามาใครเป็นเจ้าของบริษัท ใครรับหน้าที่สั่งสินค้า สายเรือใดที่นำเข้ามาและมีต้นทางมาจากที่ไหน เพื่อจะเข้าสู่ขั้นตอนการแยกรายละเอียดพฤติการณ์ของแต่ละบริษัท พิจารณาความผิดต่างกรรมต่างวาระ

พ.ต.ต.ณฐพล เผยต่อว่า ส่วนชิปปิ้งเอกชนทั้ง 11 แห่ง เราก็จะพิจารณาในรายละเอียดทุกอย่าง ทั้งพยานหลักฐานพยานบุคคล พยานเอกสาร คำให้การ ให้ครบทุกมิติ เพื่อพิจารณาว่าจะมีรายใดเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดใดบ้าง ซึ่งเราจะยึดจากข้อกฎหมายก่อน ในส่วนของขั้นตอนพิธีการศุลกากร ว่าจะมีใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง และแต่ละขั้นตอนมีการทำถูกต้องตามที่กำหนดไว้หรือไม่

“ชิปปิ้งเอกชนกับบริษัทนำเข้ามีบทบาทแตกต่างกัน ชิปปิ้งเปรียบเหมือนเป็นตัวแทนของบริษัท เพราะทำหลากหลายดังนั้น ชิปปิ้งเอกชนก็ส่วนหนึ่ง บริษัทนำเข้าก็ส่วนหนึ่ง ดีเอสไอจึงต้องมาตรวจเอกสารในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย และเอกสารของกรมศุลกากร รวมถึงเอกสารเกี่ยวกับคนสั่งสินค้า เพื่อนำไปพิจารณาว่าแต่ละบุคคลจะมีความผิดเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร” พ.ต.ต.ณฐพล ขยายความ และเผยด้วยว่า ดีเอสไอยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอีกด้วย หลังจากนี้หากมีความชัดเจนในพยานหลักฐานหลายๆ ส่วนประกอบกันเมื่อใด พนักงานสอบสวนจึงจะเห็นความชัดเจนว่า สายเรือทั้ง 17 แห่ง บริษัทชิปปิ้งเอกชน 11 แห่ง และบริษัทนำเข้าสินค้าใดบ้าง ที่จะมีความผิดตามพยานหลักฐานปรากฏ

พ.ต.ต.ณฐพล ยังระบุว่า สำหรับการอนุมัติทำลายฝังกลบเนื้อหมูเถื่อนทั้ง 161 ตู้ ที่เบื้องต้นคาดว่าจะใช้พื้นที่ในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการประสานกลับจากทางกรมปศุสัตว์ เพื่อนัดหมายประชุมร่วมกันทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ ดีเอสไอ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ พร้อมยืนยันว่าจะมีการทำลายเนื้อหมูของกลางเร็วๆ นี้แน่นอน และสามารถทำลายของกลางได้ระหว่างการสอบสวนทางคดี ไม่จำเป็นต้องรอให้คดีสิ้นสุด เพราะเนื้อหมูเถื่อนเหล่านี้ถือว่าเป็นของเสียง่ายและเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 21 ก.ค. เวลาประมาณ 14.00 น. ณ ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 2 ห้องประชุม พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้นางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ น.ส.พิทยาภรณ์ ชูรัตน์ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับหน้าที่แถลงความคืบหน้าทางคดีที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของดีเอสไอ และเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เช่น คดีมหากาพย์โกงหุ้น STARK คดีหมูเถื่อน 161 ตู้ และคดีความคืบหน้าภาค 4 แชร์ลูกโซ่ Forex-3D พร้อมให้ข้อมูล ตอบข้อซักถามกับสื่อมวลชน.