ยื้อกันไปยื้อกันมากับการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ต้องหยุดชะงักไปด้วย ทั้ง ๆ ที่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 14 .. ผ่านมา 2 เดือนกว่าแล้ว ยังไม่มีทีท่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นเมื่อไร ทำให้ทั้งประชาชน เอกชน นักลงทุน ข้าราชการ ทุกภาคส่วนที่เฝ้ารอความชัดเจนกับรัฐบาลชุดใหม่ ต่างเอือมระอานักการเมืองไทย ที่กำลังเล่นเกมการเมืองยื้ออำนาจกันไปกันมาไม่จบไม่สิ้น จนปัญหาการเมือง กำลังจะลามไปถึงปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของคนไทยแล้ว

แม้ล่าสุด “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ได้เคาะวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 ในวันที่ 4 ส.ค. นี้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะถูกใจ!! ถูกต้อง!! กันหรือยัง? แถมยังมีไฮไลต์เรื่องการกลับเมืองไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ อีกต่างหาก สุดท้ายเมืองไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ท่ามกลางกระแสข่าวสารพัด “ซูเปอร์ดีล” 

เรียกได้ว่า เดือน ส..นี้ เป็นเดือนที่ต้องลุ้นระทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในหลายเหตุการณ์ และหากประเทศไทยต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ต้องรอไปอีก 10 เดือน เพื่อให้กำแพง สว.พังทลายลง สุดท้ายเศรษฐกิจไทยมีแต่ดิ่งกับดิ่ง เท่านั้น !!!

กระทบการบริหารแผ่นดิน

ขนาดหน่วยงานมันสมองของประเทศ อย่าง “สภาพัฒน์” ยังระบุไว้ชัดเจนว่าจะมีผลกระทบต่อการบริหารประเทศแน่นอน!! โดย “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒน์ หรือสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ย้ำว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าออกไป ย่อมมีผลกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดินในหลายด้าน โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณในส่วนที่เป็นงบลงทุนใหม่ หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปกว่า 10 เดือน ที่ถือว่าเป็นสมมุติฐานที่ยาวนานที่สุด จะกระทบกับการจัดทำงบประมาณถึง 3 ปี งบประมาณตั้งแต่ 67–69 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะปกติการจัดทำงบประมาณจะล่าช้าไปไม่กี่เดือนเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบในเรื่องของการเจรจาการค้า การจัดทำเอฟทีเอ รวมทั้งความตกลงต่าง ๆ ที่มีการเจรจาหารือกับต่างประเทศไว้แล้ว และต้องการการลงนามในสัญญาที่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการ จะไม่สามารถขออนุมัติจากครม.รักษาการได้ ซึ่งทำให้กระทบการค้า การลงทุนซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่ควรจะได้รับด้วย

โอกาสประเทศหายไป 1 ปี

ไม่ใช่แค่เพียงความเห็นของสภาพัฒน์ เท่านั้น!! นักวิชาการอย่าง “ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็เอ่ยปากเลยว่า “ลอส เยียร์” หรือหมายความว่าประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะโอกาสด้านเศรษฐกิจที่เชื่อว่าต้องเสียไปโดยปริยายอย่างน้อย 1 ปีเต็มทีเดียว โดยยอมรับว่าเรื่องของ 10 เดือนนั้น เป็นเรื่องเทคนิคทางการเมืองที่นำมาวัดกำลังกัน แต่เรื่องนี้ถือเป็นอันตรายอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย และยังเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอีกด้วย เพราะตอนนี้…เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงทั้งจากสถานการณ์การส่งออกที่อาจติดลบมากขึ้น ขณะที่ปีหน้าการฟื้นตัวก็ไม่เห็นเด่นชัด หากมีรัฐบาลช้า เศรษฐกิจย่อมฟื้นตัวช้า มีผลต่อหนี้ครัวเรือนให้สูงขึ้น ถ้าจีดีพีเพิ่มขึ้นน้อย นักลงทุนก็วางแผนการลงทุนไม่ถูก ทุกอย่างจะชะงักงันไปหมด

ตั้งรัฐบาลเร็วจีดีพีโต 3.5%

แต่ถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วไม่ช้าไปกว่าเดือน ส..-..นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้ที่ 3.5% เพราะทำให้นักลงทุนเห็นความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลใหม่ใช้ขับเคลื่อนประเทศ ทำให้เกิดความมั่นใจต่อการกำหนดแผนการลงทุนในอนาคต และจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ในปีหน้า หรือปี 67 แม้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโต 3-4% แต่ต้องขึ้นกับว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่เกินเดือน ก..นี้หรือไม่ ?เพราะถ้าล่าช้าไปมากกว่านี้ การจัดทำงบประมาณจะยิ่งลำบาก เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าขึ้น และเข้าสู่โหมดความเสี่ยง อาจได้เห็นจีดีพีโตใกล้ปีนี้ 3.1-3.5% หรืออาจโตต่ำกว่านี้ได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าการเมืองมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน?

ต่างชาติหันลงทุนเพื่อนบ้าน

ด้านภาคเอกชนนั้น… ไม่ต้องสงสัย เพราะเรียกร้องมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่าต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยไม่จำเป็นว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยเฉพาะ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส... ที่ย้ำแล้วย้ำอีกว่า ณ เวลานี้ ในภาคเอกชนโดยเฉพาะในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. ต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เป็นไปตามไทม์ไลน์เดิม คือ ภายใน ส.ค.นี้ และต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากและมีเสถียรภาพ ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับได้ แต่หากต้องรอนานเกินไปจนถึง 10 เดือนนั้นคงต้องดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าถามว่า? รอได้หรือไม่ คงไม่เป็นเอกฉันท์นักเท่าไหร่? เพราะนักลงทุนแต่ละชาติรอได้ไม่เท่ากัน นักลงทุนไทยบางส่วนอาจรอได้ 6 เดือนถึง 1 ปี หรือนักลงทุนญี่ปุ่นที่คุ้นเคยกับเมืองไทยมานานก็อาจรอกันได้บ้าง แต่นักลงทุนต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยการเมืองไทย ทั้งสหรัฐ และยุโรป คงไม่รอแน่นอน  เพราะอย่าลืมว่าเพื่อนบ้านข้างเคียงของไทยก็มีหลายประเทศที่กำลังเนื้อหอมอยู่ไม่น้อยเช่นกัน!!

ช้าสุดรอได้แค่ ก..นี้

ขณะที่ “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้า ไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้มุมมองในทิศทางเดียวกัน โดยตั้งความหวังว่า การจัดตั้งครม.ชุดใหม่ ควรเสร็จสิ้นภายในเดือน ส..-..นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่ช้าเกินไป และหลังจากนี้ทุกฝ่ายควรหารือและทำความเข้าใจร่วมกัน โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ!! เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง เวลานี้ ภาคเอกชนห่วงมากที่สุด หากมีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าไปจากไทม์ไลน์ จะมีอย่างน้อย 5 เรื่องสำคัญ เริ่มตั้งแต่…ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะนโยบายมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ หากรัฐบาลใหม่ล่าช้า กระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนที่จะลดลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังรอมาตรการช่วยเหลือเรื่องแหล่งเงินทุน เพราะยังไม่มีความชัดเจนของชุดมาตรการใหม่ หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ามาก เอสเอ็มอีบางรายอาจหยุดกิจการ หรือปรับลดการจ้างงานไปเลยก็ได้ 

ต่อมา…เป็นเรื่องของภัยแล้ง แม้ขณะนี้ภาคเกษตรไทยยังสามารถเติบโตได้ดี แต่ปัญหาภัยแล้งซึ่งในปีนี้สัญญาณจาก “เอลนีโญ”อย่างชัดเจน หากไม่มีแผนรับมืออย่างเร่งด่วนและจริงจัง จะกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรแน่ ๆ  เช่นเดียวกับเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ยังค้างท่อ รวมไปถึงการจัดทำงบประมาณประเทศได้ล่าช้า แม้สามารถใช้งบประมาณในตัวเลขเดิมได้ แต่ประเทศต้องการฝ่ายบริหารเข้ามาตัดสินใจ!! พร้อมวางมาตรการเยียวยาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์

ไม่เพียงเท่านี้!! เรื่องของปัญหาค่าพลังงานสูง ต้นทุนต่าง ๆ ที่อยู่ระดับสูง ส่งผลกับค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง หรือแม้แต่ความชัดเจนของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ที่แต่ละพรรคเสนอไว้ หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า นักลงทุนต่างชาติ ยังคงต้องติดตามทิศทางและความชัดเจน ซึ่งทำให้ประเทศเสียโอกาสในการดึงดูดเงินใหม่ ๆ เข้ามา

เอกชนตั้งคำถามใหญ่ 3 ข้อ

ด้านภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกโดยตรง อย่าง “ชัยชาญ เจริญสุข” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก ได้ประกาศตั้งคำถาม 3 ข้อ หากต้องรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไปอีก 10 เดือน คือ 1. สิ่งแรกที่ประชาชนในประเทศจะได้คืออะไร? 2. ภารกิจปัจจุบันที่รัฐบาลต้องเร่งรีบทำคืออะไร? และ 3. เมื่อถึง 10 เดือน จะมีตัวแปรอื่นมาอีกหรือไม่? อย่าลืมว่าเวลานี้…สถานการณ์การส่งออกของไทย ยังติดลบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือเรื่องของการกำหนดยุทธศาสตร์การส่งออก ตั้งแต่นี้ไปจะเป็นอย่างไร? 

เช่นเดียวกับเรื่องของ “สินค้า” จะพัฒนาไปในทิศทางใด หรือแม้แต่การเชื่อมต่อกับเรื่องของ “เอฟทีเอ” หรือเขตการค้าเสรีที่ทำไปแล้ว และที่อยู่ระหว่างดำเนินการจะไปทางไหน ทั้งเอฟทีเอระหว่างไทย-อียู หรือแม้แต่เอฟทีเอใหม่ อย่างไทย-ศรีลังกา อาเซียน-แคนาดา รวมถึงไทย-ยูเค ที่ต้องมีความต่อเนื่อง เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการค้าการขายของประเทศอย่างมาก ที่ต้องถามหาทิศทางที่ชัดเจน!!

Free photo demographic census concept representation

ตลาดทุนรอ 1-2 เดือน

ไม่เพียงแค่ในเรื่องของภาคผลิต ภาคการส่งออกเท่านั้น ในภาคการเงิน ภาคตลาดทุน ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาเดินหน้าต่อ หรือวางนโยบายให้ชัดเจน แม้อาจรอเวลาจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็ต้องมีความชัดเจน โดย “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือเฟทโก้ บอกว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ยังต้องรอกระบวนการทางกฎหมายที่ตั้งไว้ แต่หัวใจสำคัญ คือระหว่างทางจะทำอย่างไร? ให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารการท่องเที่ยวให้ดี ที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ โดยเชื่อว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีงบประมาณพอที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้รองรับเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงการขับเคลื่อนด้วยการใช้งบประมาณไปล่วงหน้าก่อน เพื่อประคองเศรษฐกิจ โดยยังมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้ ทั้งเงินเฟ้อไทยที่อยู่ในระดับต่ำ 0.23% เงินสำรองระหว่างประเทศที่มีกว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่ภาคการธนาคารก็มีความเข้มแข็งและมีสภาพคล่องที่เพียงพอ เช่นเดียวกับในภาคธุรกิจ ในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำไรมากพอ

อย่างไรก็ตามในแง่ของตลาดทุนนั้นยังรอได้อีกประมาณ 1-2 เดือน หากมีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า เพราะตลาดทุนอยากได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพที่เพียงพอ และอยากให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจนมากกว่านี้ เพราะโจทย์ของตลาดทุนอยู่ที่ว่ารัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพหรือไม่? เพราะหากรวดเร็วแล้วได้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ตลาดทุนก็ไม่ชอบเช่นกัน จึงต้องรอดูว่าจะคลี่คลายไปอย่างไร แต่ระหว่างทางต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าด้วย โดยเวลานี้แนวโน้มเงินลงทุนต่างชาติที่จะไหลกลับเข้ามาในตลาดทุนช่วงครึ่งปีหลังนี้ คาดว่า ยังต้องรออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่รอดูความชัดเจนทางการเมือง หากทุกอย่างเรียบร้อยก็เชื่อว่าจะเป็นแรงดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติให้ไหลกลับเข้ามาได้

ณ เวลานี้ เมื่อทุกภาคส่วนได้สรุปให้เห็นภาพตรงกันแล้วว่า…หากยิ่งดึงปัญหาผลประโยชน์ทางการเมือง!! หากลากตั้งรัฐบาลช้าเท่าใด!! ยิ่งทำให้เกิดผลกระทบกับประเทศชาติ กับประชาชนอย่างรุนแรง และยิ่งหากปล่อยให้เนิ่นนานออกไป อาจเป็นการ “เปิดช่อง” ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยประเทศไทยเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 ให้กลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง!!

ทีมเศรษฐกิจ