จากกรณีข่าวดัง ที่มีนักวิชาการไทยในต่างประเทศรายหนึ่ง ได้ออกมาแฉวงการนักวิชาการไทยในยุคปัจจุบัน มีการซื้อขายผลงานวิจัยออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ โดยไม่ต้องทำจริง ๆ เพียงแค่มีเงินและคลิกตามขั้นตอน กระทั่งมีการโยงไปถึงนักวิชาการชื่อดังของสถาบันต่าง ๆ ที่ก็ใช้งานวิจัยคนอื่นแล้วสวมรอยว่าเป็นผลงานตนเอง ภายหลังต่อมา เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ออกประกาศ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อสอบข้อเท็จจริงประเด็นดังกล่าวโดยเร็ว

ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ออกประกาศอีกฉบับว่า “คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมและส่งเสริมธรรมาภิบาลของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้พิจารณาและมีความเห็นว่า บุคลากรดังกล่าวกระทำผิดทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขอยืนยันว่า จะเร่งพิจารณาบทลงโทษตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่อไปในโอกาสแรก” ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ออกประกาศฉบับวันที่ 31 ก.ค. 66 ระบุว่า “กรณีปรากฏข่าวในสื่อสาธารณะว่ามีบุคลากรในสังกัดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รายหนึ่งมีพฤติการณ์ว่ามีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีความผิดปกติ จนเกิดความเสียหายต่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นั้น

บัดนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ดำเนินการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวจนเป็นที่ยุติพบว่าบุคลากรรายดังกล่าวมีพฤติการณ์กระทำความผิดวินัยร้ายแรงอันเกี่ยวเนื่องจากพฤติการณ์ที่ผิดปกติของการตีพิมพ์ผลงานวิจัย และได้ลงโทษทางวินัยร้ายแรงและพ้นจากการเป็นบุคลากรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มุ่งมั่นให้บุคลากรทุกคนมีมาตรฐานการดำเนินงานที่โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล มุ่งเน้นการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้และพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและประเทศชาติต่อไป จึงแจ้งมาให้ทราบทั่วกัน”..

ขอบคุณภาพประกอบ : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ Chulabhorn Royal Academy