เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่รัฐสภา แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พูดคุยหารือแนวทางการร่วมรัฐบาลร่วมกับนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรค นายนิกร จำนง ผอ.พรรค 

จากนั้นเวลา 10.00 น. ได้ร่วมกันแถลงข่าวร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดย นพ.ชลน่าน อ่านแถลงการณ์ว่า พรรค พท. ได้รวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลเพิ่มเติมในวันนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรค ชทพ. และขอขอบคุณหัวหน้าพรรค ชทพ. สถานการณ์ของประเทศวันนี้ มี 3 วิกฤติสําคัญ คือ 1.วิกฤติรัฐธรรมนูญ 2.วิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน 3.วิกฤติความขัดแย้งในสังคม 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรค พท. และพรรค ชทพ. จะจับมือกันคลี่คลายปัญหาของประเทศในครั้งนี้ โดยดึงการมีส่วนร่วมของทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกพรรค ทุกฝ่าย ทั้ง สส. จากพรรคการเมืองต่างๆ และ สว. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลให้สําเร็จ สามารถบริหารประเทศนําไปสู่การเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้อประชาชนได้โดยเร็ว การประวิงเวลาออกไป ยิ่งทําให้เกิดความเสียหายยิ่งขึ้น การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเท่าไร จะยิ่งแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรายืนยันจะทํางานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความพิเศษ ดังนั้น การที่จะแก้วิกฤติครั้งนี้ได้ จําเป็นต้องสลายขั้วการเมือง ดึงความร่วมมือจากทุกพรรคทุกฝ่าย เพื่อนํารัฐธรรมนูญออกจากวิกฤติ เพื่อนําประชาชนให้พ้นทุกข์ เพื่อสร้างความสามัคคี สมานฉันท์โดยถือเป็นวาระประเทศที่สําคัญอย่างสูงสุด

“เราอยากขอวิงวอนให้พี่น้องประชาชน มั่นใจในพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนในครั้ง นี้เราจะช่วยกันฝ่าวิกฤติเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนทุกคน เราหวังจะเห็นความสามัคคีของทุกคน” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามว่าการที่พรรค พท. ไปหารือกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เพื่อขอให้ลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ มีความกังวลว่าพรรค พท. จะกลับมาร่วมงานกับพรรค ก.ก. หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ตนคิดว่าการที่แต่ละพรรค และแสดงเจตจำนงในการทำงานร่วมกันแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของทุกพรรคที่จะต้องมาช่วยกันหาคะแนนเสียง เพื่อโหวตเลือกนายกฯ ให้ได้เกิน 376 เสียง ดังนั้นก็เป็นสิทธิของแต่ละพรรค ทั้งพรรค พท. และของพรรค ชทพ. ที่วันนี้เราตอบรับคำเชิญร่วมรัฐบาลกับพรรค พท. เราเองก็จะต้องช่วยกันหาคะแนนเสียงเพื่อจะได้โหวตนายกรัฐมนตรี และให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้เร็วที่สุด เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา

เมื่อถามกรณีที่ สว. กังวลว่าพรรค พท. ไปพูดคุยกับพรรค ก.ก. และจะมีการดึงมาร่วมรัฐบาลในช่วงหลัง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรากับพรรค ก.ก. พยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ได้รับการสนับสนุนเสียงในรัฐสภา แม้พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะขอคะแนนจากทุกภาคทุกฝ่ายภายใต้เงื่อนไขของ 8 พรรคร่วม ก็จะแสวงหามาได้ 320 เสียง ไม่มากไปกว่านั้น เพราะติดวิกฤติรัฐธรรมนูญ

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า จากการที่เราไปสอบถามรายบุคคลทั้ง สส. สว. และพรรคการเมืองที่เราทำอย่างเปิดเผย เพื่อเราต้องการคำตอบที่เปิดเผยว่า ทำไมเขาถึงไม่ลงคะแนนให้ในกรณีที่เราจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค ก.ก. คำตอบชัดว่า ไม่ว่าจะมีการแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ 4 พรรคการเมืองมีคำตอบชัดเจนว่า ไม่สามารถร่วมรัฐบาลได้ ไม่สามารถลงคะแนนให้ได้ มีเพียง 1 พรรคการเมืองเท่านั้น ที่ระบุว่า ถ้ามีการปลดล็อก ไม่แตะต้องไม่แก้ไขมาตรา 112 สามารถเข้าร่วมรัฐบาลได้ นี่เป็นคำตอบที่ชัดมาก

“เราเองมีความจำเป็นที่จะต้องหาเสียงเพิ่มจากพรรคอื่น ภายใต้เงื่อนไขว่าถ้ามีพรรค ก.ก. อยู่ ร่วมการจัดตั้งรัฐบาล เราจะไม่ได้คะแนน การบริหารจัดการในเรื่องนี้ เราเองจำยอมที่จะต้องทำ เราไม่เคยเกลียดพรรค ก.ก. เราไม่เคยปฏิเสธเสียงพี่น้องประชาชนที่ให้มา แต่ในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าพรรค พท. ไม่เดินหน้าทำอะไรเลย ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ เท่ากับปฏิเสธความรับผิดชอบต่อประชาชนและประเทศชาติบ้านเมือง” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การพูดคุยกับพรรค ก.ก. วานนี้ (9 ส.ค.) มีเจตจำนงเพื่อสอบถามและขอความร่วมมือว่า เป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนที่เราจะมาปลดล็อกรัฐธรรมนูญ เราไม่ได้ไปเชิญชวนพรรค ก.ก. มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะไม่มีพันธะสัญญาว่าให้พรรค ก.ก. ร่วมรัฐบาลหลังจากนี้ เชื่อว่าความกังวลของ สว. บางส่วนเราตอบคำถามนี้ได้

ด้านนายภูมิธรรม กล่าวเสริมว่า การไปพบพรรค ก.ก. เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ไม่ใช่สิ่งผิดปกติที่พรรค พท. กำลังดำเนินการ เพราะเราไปทุกพรรค ทุกฝ่าย ทุกคนทั้ง สส. และ สว. เพราะนั่นคือการปฏิบัติที่เป็นจริง ที่ต้องการว่า เราต้องการสลายขั้วขัดแย้งทุกพรรคการเมือง แต่ยืนยันว่าการไปเมื่อวานนี้ ไม่ได้เชิญพรรค ก.ก. มาร่วมรัฐบาล เพราะเราชัดเจนอยู่แล้วว่า ตั้งแต่เราแยกกันในเอ็มโอยู พรรค ก.ก. ไปเป็นฝ่ายค้าน พรรคเรามาเป็นรัฐบาล การที่เราไปเมื่อวานนี้คือ การรับฟังความเห็น เพื่อให้การตั้งรัฐบาลครั้งนี้เป็นมิติการเมืองใหม่

เมื่อถามว่า หากเสียงไม่พอ จะต้องเชิญอีก 3 พรรคคือประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสซ.) มาร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราไม่ได้ไปเชิญใครมาร่วมรัฐบาลอย่างชัดเจนทุกอย่าง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือเชิญมาโหวตให้ความไว้วางใจให้พรรค พท. และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พท. แต่ทุกพรรคเราไปพบมาหมดแล้ว แต่กระบวนการที่จะมาสู่ขั้นตอนการสรุปคงต้องให้เป็นไปตามกระบวนการกรอบเวลา เราจะไม่หยุดสิ่งที่เราคิดและดำเนินการ จากนี้พรรคใดพร้อม เราก็พร้อมที่จะเปิด แต่พรรคใดที่ยังไม่พร้อม เราก็จะไม่ไปคาดคั้น แต่ให้พิสูจน์ให้เราเห็นในวันที่มีการโหวตเลือกนายกฯ เรายืนยันว่าเสียงเกินกึ่งหนึ่งมาตลอด และก่อนโหวตนายกฯ เราจะได้เสียงเพียงพอแน่นอน เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่า การเลือกนายกฯ จะเป็นแบบม้วนเดียวจบ

เมื่อถามว่า คุยกับพรรค ปชป. พรรค พปชร. และพรรค รทสช. เพื่อให้โหวตนายกฯ ให้พรรค พท. เหมือนที่คุยกับพรรค ก.ก. หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า คุยสถานการณ์กับคุยเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี คุยทุกพรรค ทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ตนคิดว่าไม่ควรถามเรื่องแบบนี้แล้ว

นพ.ชลน่าน กล่าวเสริมว่า หนทางการจัดตั้งรัฐบาลของ พรรค พท. เราพยายามหาทางออกที่ดีที่สุด อะไรที่เป็นความต้องการส่วนใหญ่ที่เราต้องการจะทำได้ เราก็พยายามหาทางนั้นเป็นทางเลือกแรก เช่น ไปเจรจาให้พรรคการเมืองและ สว. ลงคะแนนให้พรรค พท. โดยไม่มีเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล ถ้าทำสำเร็จ ก็ตอบสนองความต้องการประชาชนได้ แต่หากทำไม่ได้ ก็ต้องมีทางเลือกอื่นบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ยอมรับว่าพรรพค พท. ใช้ต้นทุนสูงมากในการทำงานครั้งนี้ ที่ผ่านมาเรารณรงค์เรื่องแลนด์สไลด์ แต่ทำไม่สำเร็จ ก็ต้องยอมรับ เราใช้สถานการณ์เช่นนี้มาบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน

เมื่อถามว่า หากพรรค ปชป. และพรรคของ 2 ลุงโหวตนายกรัฐมนตรีให้พรรค พท. จะดึง 3 พรรคนี้มาร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การตั้งรัฐบาลจะมีเสถียรภาพ ต้องมีเสียงข้างมาก ขณะนี้เรามั่นใจว่าเรามีเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง แต่จะเด็ดขาดถึงขั้น 280-300 เสียงหรือไม่ อยู่ในขั้นตอนปฏิบัติ เรามีข้อจำกัดในทางเลือกมาก แต่ก็พยายามหาทางเลือกที่ดีที่สุดบนพื้นฐานความเป็นไปได้ แต่หากเป็นไปไม่ได้ ทางเลือกต่อมาเราก็ต้องเลือก เพราะเชื่อว่า หากทำทางเลือกนี้ได้ ไม่ใช่แค่เพื่อเรา เราจะทำเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง.