เมื่อวันที่ 14 ส.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ที่เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2566 ว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงระเบียบและหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566 ซึ่งมีสาระหลักเพิ่มเติม คือเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ ดังนั้นคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะต้องออกระเบียบกำหนดรายละเอียดหลังจากนี้ แต่ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่ก่อนวันที่ระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จะยังมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเพราะรัฐบาลไม่มีความสามารถในการหาเงินนั้น ตนขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมา เศรษฐกิจดีขึ้น และรัฐบาลจัดเก็บรายได้มากขึ้น มีการจดทะเบียนการค้าบริษัทต่างชาติ การขอการสนับสนุนการลงทุนต่างชาติเพิ่มต่อเนื่อง มีตัวชี้วัดความสามารถจัดหารายได้ ซึ่งดูได้จากตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (เดือน ต.ค. 2565-เม.ย. 2566) เก็บรายได้สูงกว่าปีก่อน 6.5 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 107,101 ล้านบาท หรือ 11.10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.4 เปอร์เซ็นต์ และสูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 8.9 เปอร์เซ็นต์ นี่คือความสามารถของรัฐบาลในการหารายได้

ส่วนประเด็นดราม่าที่ว่าเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทยหรือไม่นั้น น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม และมุ่งแก้ปัญหาประชาชนอย่างตรงเป้า รวมถึงใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ ขณะเดียวกัน วันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจะเพิ่มต่อเนื่อง ทำให้งบประมาณที่รัฐบาลเคยตั้งไว้ 50,000 ล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาท และแตะ 90,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยดังกล่าวแก่ผู้สูงอายุร่ำรวย หรือมีรายได้สูง เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไป อาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้า เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและมีความเดือดร้อนมากกว่า อีกทั้งเป็นการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว จึงขอฝ่ายการเมืองอย่ามองว่าเป็นการลักไก่